วันนี้ (16 ส.ค.2562) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณา สถานการณ์เศรษฐกิจโลกกระทบจีดีพีไตรมาส 2 ชะลอตัวต่ำต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปี ประกอบกับ ความผันผวนในตลาดเงิน และตลาดทุน หลังผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะสั้น และระยะยาวติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ กว่า 10 ปี สร้างความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ขณะที่ ปัญหาภัยแล้งกระทบรายได้เกษตรกร กระทบเศรษฐกิจฐานราก คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจจึงวางกรอบการทำงานรับมือสถานการณ์ดังกล่าว แบ่งเป็นงานเร่งด่วน 7 ด้าน เช่น การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เร่งรัดการเบิกจ่าย และสนับสนุนการส่งออก และยังมีงานปฏิรูปโครงสร้าง 2 ด้าน ได้แก่ ปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตร และปฏิรูปภาครัฐ พร้อมตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายเศรษฐกิจเพื่อติดตามประสานและเร่งรัดงานจากหลายพรรค หลายกระทรวงให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อขับเคลื่อนจีดีพีโตร้อยละ 2.7 - 3 และปีหน้าจีดีพีโตร้อยละ 3.5
ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบกรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กระทรวงการคลังเสนอ 3 ด้าน ได้แก่ มาตรการบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เตรียมวงเงินสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉิน รายละไม่เกิน 500,000 บาท วงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยปลอดดอกเบี้ยในปีแรก และลดดอกเบี้ยอัตราพิเศษ พร้อมขยายเวลาพักชำระเงินต้น จากเดิม 3 ปี เป็น 4 ปี และเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) พิจารณาวงเงินอุดหนุนต้นทุนปลูกข้าวนาปี การผลิต 2562/2563 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ผลผลิตเสียหายจากภัยแล้ง
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังมีแผนจะเติมเงินไปยังผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกคน คนละ 500 บาท จากปัจจุบัน ผู้ถือบัตรฯ แต่ละคน จะได้รับเงินค่าใช้จ่ายผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐ หรือ กดเป็นเงินสด คนละ 200-300 บาทต่อเดือน เพื่อลดภาระค่าครองชีพ
แต่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นผู้สูงอายุจะได้รับเงินเติมอีก 500 บาท และผู้ถือบัตรฯ ที่มีลูกอายุไม่เกิน 6 ปี จะได้รับเงินเพิ่มอีก 300 บาท จากปัจจุบัน ที่ได้รับจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เดือนละ 500 บาท รวมได้รับเงินอุดหนุนเลี้ยงดูบุตร อายุ ต่ำกว่า 6 ขวบ เดือนละ 800 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน ระหว่างเดือน ส.ค.- ก.ย.2562
ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังจะเปิดให้ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ลงทะเบียนเข้าโครงการชิม ช็อป ใช้ ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารกรุงไทยเพื่ิอกระตุ้นการจับจ่ายท่องเที่ยว ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง คนละ 1,000 บาท แต่ไม่สามารถใช้สิทธิจากการใช้จ่ายในจังหวัดภูมิลำเนาตามบัตรประชาชนและไม่สามารถกดเป็นเงินสดได้ตั้งเป้าผู้เข้าโครงการ 10 ล้านคน อีกทั้งยังได้รับเงินคืนจากการใช้จ่าย ตามเกณฑ์ที่จะกำหนดต่อไป คนละ 15 % ของวงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน หรือจะได้รับแคชแบล็คไม่เกิน 4,500 บาท
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ทั้งวงเงินสินเชื่อจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และออมสิน รวม 52,000 ล้านบาท มาตรการพักชำระหนี้ กองทุนหมู่บ้าน กับสถาบันการเงินวงเงิน 67,000 ล้านบาท และมาตรการสนับสนุนการส่งออก และย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ ผลประชุมนี้จะนำเสนอใน ครม.ชุดใหญ่ สัปดาห์หน้า เพื่อขอใช้งบประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่หากรวมวงเงินสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 100,000 ล้านบาท และเม็ดเงินรวมจากทุกมาตรการไม่น้อยกว่า 316,000 ล้านบาท