ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทวงคืนงบฯผู้ป่วยกองทุนเฉพาะโรค 676 ล้านบาท

สังคม
16 ส.ค. 62
17:24
1,154
Logo Thai PBS
ทวงคืนงบฯผู้ป่วยกองทุนเฉพาะโรค 676 ล้านบาท
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ทวงคืนงบนอกเหมาจ่ายรายหัวกว่า 676 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย

วันนี้ (16 ส.ค.2562) กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แถลงเรียกร้องให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.ติดตามทวงคืนงบนอกเหมาจ่ายรายหัว หรือ งบกองทุนเฉพาะโรคที่ถูกสำนักงบประมาณตัดออกไปจำนวน 676.21 ล้านบาท 

นายนิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่ายังไม่ทันจะข้ามวันหลังจากที่ รมว.กระทรวงสาธารณสุข ประกาศไม่ร่วมจ่าย ไม่ล้มระบบ ก็ได้ทราบมาว่ากำลังมีปัญหาเรื่องงบประมาณที่ผ่าน ครม.ชุดที่แล้วที่อนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอโดยมีการตัดงบประมาณที่เป็นกองทุนเฉพาะเช่น ค่าบริการผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงโดยเฉพาะผู้สูงอายุ กองทุนเอดส์ กองทุนโรคไต ซึ่งจะทำให้งบประมาณหายไปกว่า 676 ล้านบาท ในขณะที่รัฐบาลชุดนี้ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการแจกเงินให้คนไปเที่ยวคนละ 1,500 บาทกว่า 15,000 ล้านบาท

การตัดงบประมาณในกองทุนเฉพาะโรคแบบนี้จะส่งผลอย่างมากต่อการเข้าถึงการรักษาและยาจำเป็นของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แต่ประเทศนี้กำลังรีดเอาเงินที่จำเป็นไปใช้จ่ายในส่วนอื่นที่ไม่จำเป็นเช่น แจกเงินให้เที่ยว

ผศ.ภกญ.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่างบประมาณกองทุนเฉพาะโรค เป็นงบประมาณที่ดูแลกลุ่มประชาชนที่เปราะบางที่สุด ซึ่งรัฐบาลที่แล้วมีการเจรจาร่วมกันระหว่าง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ และ สปสช.เดิมมีการตกลงต่อรองงบประมาณก้อนนี้รวมทั้งหมด 16,800 กว่าล้านบาท แต่กลับถูกตัดงบประมาณไปกว่า 680 ล้านบาท ซึ่งกรรมก็มาตกกับผู้ป่วย

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ยิ่งเห็นตัวเลขงบประมาณที่รัฐบาลชุดนี้ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจยิ่งสะท้อนสะท้านใจ เพราะงบประมาณที่รัฐเอาไปแจก เอาไปกระตุ้น ล้วนเป็นไปตามที่นโยบายพรรคการเมืองหาเสียงไว้ แต่กลับมารีดเงินเอากับผู้ป่วย อย่างกรณีผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีผู้ที่ต้องรับยากว่า 300,000 คน และเริ่มมารักษาใหม่ปีละกว่า 30,000 คน หากงบประมาณลดลง คนเหล่านี้จะถูกตัดโอกาสในการมีชีวิตต่อ

นายธนพลธ์ ดอกแก้ว ตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วยโรคไต กล่าวว่า เพิ่งเห็นว่างบประมาณกองทุนโรคไตถูกตัดไปกว่า 300 ล้านบาท ในขณะที่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีความจำเป็นที่ต้องฟอกไตต่อเนื่อง และขณะนี้พบว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ขณะที่สิทธิประโยชน์ที่จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่น เครื่องฟอกไตที่บ้าน หรือยากดภูมิสำหรับผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ รวมไปถึงค่าบริการการทำเส้นเลือดเพื่อเตรียมล้างไต หรือผู้ป่วยไตที่มีโรคร่วม ซึ่ง สปสช.อยู่ระหว่างพิจารณา แต่ถ้าถูกตัดงบประมาณโอกาสที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ก็อาจจะหายไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง