ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทยประเมินว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทันทีในช่วงสิงหาคมถึงกันยายนนี้ วงเงิน 2 ถึง 3 หมื่นล้านบาท หากสามารถทำได้ทุกมาตรการจะช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ร้อยละ 3 ถึง 3.5 โดยเตรียมปรับประมาณการอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (21 ส.ค. 62)
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า เตรียมจะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ใหม่ จากเดิมที่คาดไว้ร้อยละ 3-3.5 หลังเศรษฐกิจครึ่งปีแรกขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.6 ถือว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวลงและในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีความเสี่ยงจากสงครามการค้า กระทบต่อการส่งออกของไทย และสถานการณ์การเมืองจะทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคชะลออีก
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ วงเงินรวม 2 -3 แสนล้านบาท ประเมินว่า จะมีเม็ดเงินจะถูกใช้ทันทีในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. อย่างน้อยประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาทผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และน่าจะมีการโอนให้เกษตรกร จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ทรุดตัวลงไปอย่างรวดเร็ว
และหากผลจากนโยบายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น สินเชื่อเอสเอ็มอี ,สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อธุรกิจทั่วไป สามารถระดมการปล่อยสินเชื่อได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 อย่างน้อย 50,000-100,000 ล้านบาท ทำให้คาดว่าจะมีวงเงินที่ใช้ช่วงครึ่งปีหลังจะสูงถึง 100,000-200,000 ล้านบาท มีโอกาสจะผลักให้เศรษฐกิจได้ช่วงไตรมาสที่ 4 ขยายตัวขึ้นร้อยละ 3.5-4 ส่งผลให้ในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 3-3.5
พร้อมเสนอรัฐ ควรมีมาตรการอื่นๆเสริม เช่น การประกันรายได้เกษตรกร โดยเฉพาะยางพารา และมาตรการช้อปช่วยชาติ มาตรการเร่งรัดให้องค์กรส่วนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนการจับจ่ายใช้สอยในระบบเศรษฐกิมากขึ้น และดูแลค่าเงินบาทให้ทรงตัวไม่หลุด 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ