วันนี้ (23 ส.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการคลัง เสนองานวิจัยการออกแบบสวัสดิการแห่งรัฐ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ แทนสวัสดิการเหมารวม ช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้มีประสิทธิภาพมากกว่า และย้ำการดึงเงินฝากเหลือจากการเบิกจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ถือเป็นการล้วงลูก เพราะเป็นเงินของประชาชนเหมือนกัน
ในงานสัมมนาประจำปี "คลังคิด เศรษฐกิจเชิงพื้นที่" เศรษฐกร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นำเสนอผลงานวิจัย เกี่ยวกับ การออกแบบชุดสวัสดิการ และแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นรายพื้นที่ หลังวิเคราะห์ข้อมูลจาก ผลผลิตทางเศรษฐกิจ และความพร้อมเชิงโครงสร้างพื้นฐาน พบว่า ภาคกลาง และใต้ เป็นพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพและความพร้อมพัฒนาได้ในทุกด้าน
ส่วนภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ ยังใช้ประสิทธิภาพของพื้นที่ ไม่เต็มที่ ก่อนนำดัชนีชี้วัดด้านอื่น ๆ 12 ดัชนี 8 กลุ่ม เช่น ข้อมูลสาธารณสุข, การศึกษา, ทรัพยากรมนุษย์ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลรายจังหวัด และจัดกลุ่มเพื่อกำหนดกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 2.กลุ่มควิก วิน 3.กลุ่มการพัฒนา ไม่สมดุล และ 4.กลุ่มต้องการความช่วยเหลือ เพื่อออกแบบชุดนโยบาย และจัดสวัสดิการให้เหมาะสมกับพื้นที่ คล้ายการตัดเสื้อให้เข้ากับคนในพื้นที่ หรือ เทลเลอร์ เมด แทนการดำเนินนโยบายและสวัสดิการแบบเหมารวม หรือ ฟิท ฟอร์ ออล
เนื่องจากพบว่า การดำเนินนโยบายสวัสดิการรัฐแบบเหมารวมเหมือนกันทั้งประเทศไม่ช่วยแก้ปัญหาความยากจน เช่นกรณี ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังเป็นจังหวัดที่มีรายได้ประชากรต่ำสุดของประเทศ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จึงเสนอแนวทางปรับปรุงโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็น "โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พลัส" จากเดิมที่ผู้เข้าโครงการทุกคนทั่วประเทศ ได้รับเงินสวัสดิการประมาณคนละ 1,990 บาท เป็นการจัดสรรเงินสวัสดิการให้เหมาะสมกับความต้องการของพื้นที่ เช่น บางจังหวัดอาจได้รับเงินค่าชุดนักเรียนลูก ค่าวัคซีน เบี้ยขยัน เป็นต้น
ส่วนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่อาศัยในเมืองใหญ่ อาจได้รับเงินเน้นด้านการบรรเทาภาระค่าครองชีพ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าเดินทาง ภายใต้กรอบงบประมาณเท่าเดิม โดยยกกรณีศึกษาของ จ.แม่ฮ่องสอน อาจได้รับการจัดสรรเงินเข้าบัตรสวัสดิการเพิ่มขึ้น พร้อมกับเพิ่มทักษะให้เป็นเกษตรกรสมัยใหม่ หรือ สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ เช่นเดียวกับ จ.ภูเก็ต ที่มีรายได้ประชากรสูง แต่กลับพบปัญหาการว่างงานสูงถึงร้อยละ 61 จึงควรเน้นการสนับสนุน ด้านฝึกทักษะผู้ประกอบการยุคใหม่ เป็นต้น
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเปิดลงทะเบียนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่ในต้นปีหน้า พร้อมปรับเกณฑ์การลงทะเบียนพิจารณารายได้ครัวเรือนแทนรายได้รายบุคคลเช่นปัจจุบัน และอาจนำแนวคิดการจัดสวัสดิการแห่งรัฐรายพื้นที่แทนระบบสวัสดิการแบบเหมารวม ภายใต้กรอบงบประมาณเดิม ซึ่งในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 สศค. เสนอขอจัดสรรงบฯ ดำเนินโครงการดังกล่าว 6 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงกรณีแนวคิดการเข้าไปบริหารงบประมาณเหลือเบิกจ่าย ที่สะสมในธนาคาร ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) วงเงิน 6 แสนล้านบาทนั้น ไม่ถือเป็นการล้วงลูกท้องถิ่น แต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณ เพราะเป็นเงินของประชาชนเหมือนกัน โดยกระทรวงการคลังจะหารือกับกระทรวงมหาดไทย และสำนักงบประมาณอย่างใกล้ชิด พร้อมย้ำว่าคลังไม่ได้ถังแตกและยังมีงบกลางฯเพียงพอต่อการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนที่วางไว้