เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ เรื่อง จำนวนครั้งในการติดต่อทวงถามหนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 (3) และมาตรา 16 (1) แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ประกาศนี้เรียกว่า "ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ เรื่องจำนวนครั้งในการติดต่อทวงถามหนี้"
ข้อ 2. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 3. ให้ผู้ทวงถามหนี้ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้ เพื่อการทวงถามหนี้ได้ทราบการทวงถามหนี้ ไม่เกินหนึ่งครั้งต่อหนึ่งวัน
ประกาศ ณ วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2562
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ประธานกรรมการกำกับการทวงถามหนี้
แนะทำความเข้าใจกฎหมาย ก่อนทวงหนี้
ข้อมูลจากแฟนเพจเฟซบุ๊ก Law Inspiration โพสต์อธิบายไว้ว่า การทวงหนี้ที่ว่า หมายถึงการทวงหนี้ตาม พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 เท่านั้น ไม่รวมถึงการทวงหนี้ทั่วไป ผู้ทวงถามหนี้ตามกฎหมายนี้ หมายถึงเจ้าหนี้ ผู้ให้สินเชื่อทางการค้าปกติ, คนที่ซื้อ หรือ รับโอนหนี้, ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค, ผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน ที่สำคัยคือ หนี้นั้นจะเป็นหนี้โดยชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เข้าข่ายทั้งสิ้น
ยกตัวอย่าง เจ้าหนี้ตามกฎหมายนี้ เช่น ธนาคาร บริษัทบัตรเดคริต บริษัทเช่าซื้อ เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ กลุ่มนี้จะมาทวงหนี้เกิน 1 ครั้งหลังวันที่ 21 พ.ย.2562 ไม่ได้ ถ้าเจ้าหนี้ทวงเกินวันละ 1 ครั้ง มีความผิดทางปกครอง คณะกรรมการทวงหนี้สามารถสั่งให้หยุดได้ ถ้าไม่หยุด อาจโดนโทษปรับทางปกครองสูงสุด 100,000 บาท
แต่ถ้าเป็นกรณีเพื่อนยืมเงินเพื่อน แล้วไม่คืน ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ ดังนั้นเพื่อนจะทวงเพื่อนเกินวันละ 1 ครั้งก็ไม่ผิด และนอกจากห้ามทวงหนี้เกินวันละ 1 ครั้งแล้ว พ.ร.บ. ยังกำหนดเรื่องการทวงหนี้ว่า ห้ามพูดจาดูหมิ่นลูกหนี้, ห้ามข่มขู่ใช้ความรุนแรง, ห้ามประจานลูกหนี้ ส่วนช่วงเวลาการทวงนี้ก็ถูกจำกัดไว้ใน พ.ร.บ.นี้คือ ทวงได้แค่ 08.00 - 20.00 น. วันจันทร์ - ศุกร์ ส่วนวันหยุดราชการ ทวงได้ตั้งแต่ 08.00 - 18.00 น. เท่านั้น อย่างไรก็ตาม กฎหมายกำหนดเรื่องวิธีการทวงหนี้เท่านั้น แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นหนี้แล้วไม่ต้องใช้