วันนี้ (25 ส.ค.2562) ภาคประชาชนในนามสภาที่สาม จัดกิจกรรมเพื่อสะท้อนมุมมองต่อนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ อีอีซี และการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งหลายฝ่ายสะท้อนว่าการเดินหน้านโยบายดังกล่าว ขัดกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนและยังส่อขัดรัฐธรรมนูญ รวมถึง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ กฎหมายอีอีซี ที่มีเนื้อหารวบอำนาจให้กับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีรัฐมนตรีจาก 14 กระทรวง ร่วมเป็นกรรมการ และให้อำนาจในการงดเว้นกฎหมายอื่น ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม หรือ กฎหมาย สปก. เพื่อให้สิทธิพิเศษเกินความจำเป็นกับนักลงทุน ขณะที่ต้องแลกกับผลกระทบทั้งวิถีชีวิต และความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายสะท้อนผ่านเวทีสภาที่สาม
ชวนตรวจสอบ นโยบายอีอีซี
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า พ.ร.บ.อีอีซี ขัดกับ 3 หลักการสำคัญ คือ 1.ไม่แลกกับผลกระทบที่จะเกิดกับวิถีชีวิต หรือ แหล่งความมั่นคงทางอาหาร แต่ พ.ร.บ.อีอีซี กลับรวบอำนาจให้คณะกรรมการนโยบายอีอีซี ออกมาตรการเอื้อให้กลุ่มทุนรุกไล่เกษตรกร 2.การออกกฎกติกาให้ประโยชน์กับนักลงทุน ต้องให้เท่าที่จำเป็น แต่ พ.ร.บ.อีอีซี กลับเพิ่มสิทธิประโยชน์จากกฎหมายบีโอไอ อีกหลายส่วน โดยเฉพาะมาตรา 49 ที่ว่าด้วยการให้สิทธิการถือครองกรรมสิทธิ์ และเช่าที่ดินสูงถึง 99 ปี และ 3.การจัดทำต้องรัดกุม ไม่ใช่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน แต่ พ.ร.บ.อีอีซี กลับมีหลายมาตรา ที่ยกเว้น พ.ร.บ.ฉบับอื่น เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นักลงทุน เช่น การเวนคืนที่ดิน การให้สิทธินำที่ดิน สปก.มาใช้ประโยชน์อื่น โดยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นกระบวนการขายสมบัติชาติหรือไม่
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ระบุว่า เนื้อหาของ พ.ร.บ.อีอีซี ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 72 ที่ระบุชัดว่า รัฐพึงดำเนินการวางแผนการใช้ที่ดินของประเทศให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และศักยภาพของที่ดิน ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน และสอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ แต่การดำเนินการที่ผ่านมา กลับไม่คำนึงถึงความต้องการและผลกระทบของคนในพื้นที่ หากรัฐบาลยังเดินหน้าโครงการต่อ ก็เตรียมฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ
นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า การเดินหน้าโครงการอีอีซี ผิดทิศผิดทาง เพราะแทนที่จะมีการเจรจาเพื่อดึงนักลงทุนมายังไทย แต่กลับเดินหน้าโครงการก่อน ด้วยการเร่งรัดออกกฎหมาย ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และปล่อยให้มีการกว้านซื้อที่ดินจากกลุ่มทุนเพื่อเก็งกำไร ก่อนจะมีการเปลี่ยนแผนผังการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวเพื่อทำเกษตรกรรมเป็นสีม่วง เขตอุตสาหกรรม แต่สุดท้ายกลับไม่เห็นความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศ
เวทีวันนี้ มีตัวแทนพรรคการเมืองและชาวบ้านจากพื้นที่อีอีซี ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและสะท้อนปัญหาผลกระทบเรื่องที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย
นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งนอกจากจะตั้งกระทู้ถามเรื่องนี้ในสภาฯ และยื่นญัตติเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบโครงการอีอีซีแล้ว ยอมรับว่าญัตติที่ยื่นต่อสภาฯ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยังไม่มีความคืบหน้า แม้จะยืนยันว่า ไม่ได้คัดค้านอีอีซี แต่เรียกร้องให้ชะลอเรื่องนี้ออกไปก่อน เพื่อศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน
โครงการ EEC ผมอยากจะใช้คำว่า “The Ends of Eastern life by Coup d'état” มันเป็นการทำลายวิถีชีวิตของคนตะวันออกอย่างแท้จริง มาตั้งแต่วาทกรรมที่บอกว่า โชติช่วงชัชวาล จนถึง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่ของคนในพื้นที่ แต่เป็นของคนที่มีเงินเยอะเสียจนใช้ยังไงก็ไม่หมด ซึ่งกฎหมายประเทศเรามันเอื้อให้พวกเขาทำแบบนั้นได้
นายจิรัฏฐ์ ยังตั้งคำถามต่อกรณีค่าเช่าที่ดิน 99 ปี ที่รัฐจะได้รับจากนักลงทุนว่า เพียงพอหรือไม่ ที่จะมาจ่ายค่าดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ เพียงพอหรือไม่ที่จะไปฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติตรงนั้น ซึ่งมีผลกระทบแน่นอน ไม่ว่าจะเรื่องของการประมง การเกษตร พร้อมระบุว่า ไม่ได้คัดค้านอีอีซี เพียงแต่มองว่าประเทศมีที่ดินอีกมาก แต่รัฐกลับจะนำที่ดินที่ติดถนน ที่ดินของชาวบ้าน ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหน และรู้สึกว่า ประชาชนในพื้นที่ไม่มีความมั่นคง ทั้งไม่มีความมั่นคงในที่ทำกิน ไม่มีความมั่นคงในการใช้ชีวิต เพราะถูกข่มขู่ ถูกขับไล่ตลอดเวลา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“วิกรม” ไม่ติดใจถูกกล่าวหาผัง EEC เอื้อทุน ย้ำไทยขาดกลุ่มทุนไม่ได้
"อนาคตใหม่" ขอชะลอผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซี ตั้งขอสังเกตเอื้อกลุ่มทุน
เครือข่ายภาคตะวันออก เดินหน้าคัดค้านผังเมืองอีอีซี