ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กสม.ขอเข้าตรวจค่ายอิงคยุทธฯ ไขปมคดี "อับดุลเลาะ" ตาย

สังคม
26 ส.ค. 62
14:22
1,029
Logo Thai PBS
กสม.ขอเข้าตรวจค่ายอิงคยุทธฯ ไขปมคดี "อับดุลเลาะ" ตาย
กสม.ระบุขอแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ ภายหลังหมดสติในค่ายทหาร เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง แนะครม. เพื่อป้องกันมิให้ข้อกล่าวหาการซ้อมทรมานเกิดขึ้นอีก ระบุมีญาติยื่น 100 คำร้องให้กสม.ตรวจสอบ พร้อมเล็งขอเข้าตรวจค่ายสถานที่คุมตัวตามกฎหมายพิเศษ

วันนี้ (26 ส.ค.2562) นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)  เปิดเผยถึงกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก เมื่อช่วงเย็นวันที่ 20 ก.ค.2562 ไปยังศูนย์ซักถาม ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

ต่อมา นายอับดุลเลาะ หมดสติภายในค่าย และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ก่อนจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลปัตตานี ในช่วงเช้ามืดวันที่ 21 ก.ค.และวันต่อมาถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จ.สงขลา โดยรักษาตัวอยู่ในห้องผู้ป่วยวิกฤตกระทั่งเสียชีวิต เมื่อวานนี้ (25 ส.ค.)  

ทั้งนี้ กสม. ขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวและญาติมิตรของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ และขอให้คำมั่นว่าจะเร่งดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวภายใต้ขอบเขตหน้าที่และอำนาจตามที่ครอบ ครัวของนายอับดุลเลาะ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนมายังสำนักงาน กสม. เพื่อให้สามารถนำข้อเท็จจริงเสนอคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พิจารณาในโอกาสแรกได้ในทันที เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ดำรงตำแหน่งกสม. ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง และอยู่ระหว่างรอการแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่กสม. ชั่วคราวให้ครบ 7 คนหรือรอกสม. ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ด่วน! อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงเสียชีวิตแล้ว

นายโสพล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่านายอับดุลเลาะ หมดสติเพราะเหตุใดจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา 

นายโสพล จริงจิตร

นายโสพล จริงจิตร

นายโสพล จริงจิตร

 

ชี้ยื่นเรื่องขอตรวจคดีความมั่นคง 100 คำร้อง  

ส่วนกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่า ถูกทำร้ายหรือซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัวเช่นเดียวหรือคล้ายคลึงกับนายอับดุลเลาะนั้น กสม. เคยมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานบุคคลผู้ต้องสงสัยในระหว่างถูกควบคุมตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่ได้รับจากครอบครัว ญาติพี่น้อง ตลอดจนทนายความของผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง ในระหว่างเดือน ธ.ค.2559- พ.ค.2561 จำนวน 100 คำร้อง ปรากฏตามรายงานผลการตรวจสอบ ที่ 87-186/2562 ลงวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีข้อเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาที่สำคัญสรุปได้ดังนี้ 

ประเด็นแรก คณะรัฐมนตรี และกระทรวงยุติธรรมควรสร้างกลไกภายในประเทศเพื่อประกันสิทธิของบุคคล ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

ควรเร่งรัดจัดทำร่างกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ เสนอต่อรัฐสภาพิจารณา

ขณะที่กระทรวงยุติธรรม ควรเร่งกำหนดมาตรการป้องกันการถูกทรมาน และกำหนดมาตรการสำหรับรับเรื่องราวร้องเรียนและตรวจสอบการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการทรมานบุคคลในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีเร่งด่วน

ประเด็นที่ 2 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ผู้ถูกร้อง) ควรกำหนดระเบียบว่าด้วยการควบคุมตัวบุคคลตามกฎหมายพิเศษ ด้านความมั่นคง ซึ่งทำให้บุคคลสูญเสียอิสรภาพ และดำเนินการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เช่น ควรแจ้งให้บุคคลที่ถูกทำให้สูญเสียอิสรภาพทราบถึงเหตุที่ถูกควบคุมตัว และบุคคลในครอบครัวของผู้ถูกควบคุมตัวทราบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของการควบคุมตัว สถานที่ที่ถูกควบคุมตัว และการเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่แห่งอื่น

กรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ ควรได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ หากเจ็บป่วยร้ายแรงควรได้รับการส่งตัวไปยังสถาบันผู้เชี่ยวชาญหรือโรงพยาบาลเพื่อการรักษา ควรจัดสถานที่สำหรับควบคุม และสถานที่สำหรับการซักถามบุคคลผู้ถูกควบคุมตัวให้สามารถตรวจสอบได้ และได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ ควรติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่ควบคุมเพื่อความปลอดภัยของผู้ถูกควบคุมตัว เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเจ้าหน้าที่ และเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัว เป็นต้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง รพ.สงขลานครินทร์ แถลง "อับดุลเลาะห์" เสียชีวิต ปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรง

กสม.ขอเข้าตรวจสอบสถานที่ควบคุมคดีความมั่นคง

ประเด็นที่ 3 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ผู้ถูกร้อง) ควรให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 ได้ตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวหรือพบผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงทันทีเมื่อได้รับการประสาน เพื่อให้สามารถตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงตามหน้าที่และอำนาจได้โดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล

กสม.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกองทัพภาคที่ 4 โดย กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า จะได้พิจารณาข้อเสนอแนะดังกล่าว เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ อันจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหรือข้อกล่าวหาเรื่องการซ้อมทรมานบุคคลผู้ต้องสงสัยในระหว่างถูกควบคุมตัวได้อีก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฮิวแมนไรต์วอตช์ จี้ตั้งกรรมการอิสระสอบปมเสียชีวิต "อับดุลเลาะ"

เสนอตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ผู้ต้องสงสัยหมดสติในค่ายอิงคยุทธฯ

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง