วันนี้ ( 28 ส.ค.2562) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงการสรุปผลและรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง Mapping the Thai Approach มุมมองหลากมิติของการกำหนดทิศทางกัญชาทางการแพทย์ ว่ามีข้อสรุปเบื้องต้นเพื่อนำเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ การกำหนดแนวทางการควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์กัญชาให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP ให้มีการกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ผู้ป่วยอย่างทั่วถึง การพัฒนารูปแบบการสั่งใช้ และส่งมอบผลิตภัณฑ์กัญชาให้ผู้ป่วย การใช้ระบบออนไลน์ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อช่วยในการสั่งจ่ายยา
รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลการใช้ และรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยามีการกำหนดแผนการวิจัย และสร้างเครือข่ายการดำเนินการวิจัย การกำหนดโปรแกรมการติดตามความปลอดภัยจากการใช้ยา การสร้างช่องทางการให้ข้อมูลข่าวสารเพิ่มขึ้น ผู้มีส่วนร่วมในการใช้กัญชาทางการแพทย์ควรได้รับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้
ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมควรมีมาตรฐานในการเพาะปลูกและการผลิต เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชาที่นำมาใช้ทางการแพทย์นั้นได้มาตรฐาน ประเทศไทยควรมีการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้การใช้กัญชาทางการแพทย์ประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังไว้
ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการโครงการสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ว่า ได้ปลูกกัญชาเมดิคัลเกรดในระบบ Indoor บริเวณพื้นที่เดิมรอบใหม่แล้ว จำนวน 140 ต้น โดยได้เริ่มปลูกเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยคาดว่าองค์การฯ จะสามารถสกัดและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันจำนวนประมาณ 10,000 ขวด ประมาณเดือนธันวาคม 2562 ครอบคลุมผลิคภัณฑ์ทั้ง 3 สูตรคือ สูตร THC สูตร CBD สูตร THC : CBD 1:1 โดยการปลูกรอบใหม่นี้ จะปลูกสายพันธุ์ CBD เด่นให้มากขึ้น
สำหรับการดำเนินการโครงการระยะที่ 2 เป็นการปรับปรุง พัฒนาสายพันธุ์กัญชาให้ผลิตสารสำคัญได้ปริมาณสูงและสามารถปลูกลงแปลงได้ รวมทั้งขยายกำลังการผลิตสารสกัดเป็นระดับกึ่งอุตสาหกรรม จะขยายพื้นที่การปลูกแบบ Indoor ให้เพิ่มมากขึ้น เป็น 1,000 ตารางเมตร คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการปลูกได้ในเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งจะได้ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันรุ่นแรกประมาณเดือนตุลาคม 2563 ทั้งนี้ จะเน้นผลิตผลิตภัณฑ์สูตร CBD
ในส่วนของความร่วมมือกับกับหน่วยงานต่างๆในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ การปลูก และเพิ่มพื้นที่การปลูกต้นกัญชานั้น ในส่วนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะเริ่มทำการปลูกในเดือนกันยายน 2562 นี้ คาดว่าทางมหาวิทยาลัยจะทยอยส่งวัตถุดิบกัญชาแห้งเกรดทางการแพทย์ให้กับองค์การฯ ทำการสกัดได้อย่างต่อเนื่องประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เพื่อทำการผลิตตามโครงการเร่งด่วนตามนโยบายรัฐมตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข