ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คมนาคมตั้งเป้าใช้ยางพารา 2 แสนตัน พัฒนาถนนทั่วประเทศ

เศรษฐกิจ
28 ส.ค. 62
18:09
2,119
Logo Thai PBS
คมนาคมตั้งเป้าใช้ยางพารา 2 แสนตัน พัฒนาถนนทั่วประเทศ
กระทรวงคมนาคม ตั้งเป้าอุดหนุนยางพาราเกษตรกรกว่า 200,000 ตัน เพื่อพัฒนาถนน 2,500 กิโลเมตร เบื้องต้นกำหนดให้เป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ยางพาราที่ชาวบ้านผลิตได้เอง

วันนี้ (28 ส.ค.2562) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการนำยางพารามาพัฒนาถนนทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ขณะนี้มีเกาะกลางถนนที่สามารถนำยางพาราไปช่วยพัฒนาได้ราว 2,500 กิโลเมตร แบ่งเป็น ถนนทางหลวง 1,994 กิโลเมตร และถนนทางหลวงชนบท 500 กิโลเมตร โดยตั้งเป้าว่าในปี 2563 จะใช้น้ำยางสด 200,000 ตัน

ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะไม่มีการทุบเกาะกลางถนน หรือแบริเออร์แบ่งฝั่งถนนที่มีอยู่เติม แต่จะเพิ่มยางพาราเข้าไปหุ้มแบริเออร์เหล่านั้นเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและทำให้แบริเออร์กั้นถนนดูใหม่ขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีบางจุดเก่ามาก ดูแล้วไม่สวยงาม ดังนั้นกระทรวงคมนาคมมี 2 แนวทาง สามารถรองรับแรงกระแทกความเร็ว 120 กม./ชม. ประกอบด้วย 1.ใช้ยางพารามาหุ้มแบริเออร์เดิมกลางถนน และ 2.ใช้ยางพาราหุ้มเส้นสลิงเกาะกลางถนน โดยจะนำยางพาราเป็นแผ่นมาหุ้นคล้ายเลโก้

 

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขหลักของการนำยางพารามาพัฒนาถนนนั้น คือต้องเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ยางพาราที่ชาวบ้านผลิตได้เอง โดยหน่วยงานจะไปรับซื้อยางหน้าสวนเกษตรกร แบบไม่ผ่านโรงงานและพ่อค้าคนกลาง เพื่อกระตุ้นให้เม็ดเงินถึงมือผู้ผลิตต้นทางอย่างแท้จริง และจะมีหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมเข้าไปสอนชาวบ้านเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตด้วย

หลักการรองลงมาคือเรื่องราคา ความแข็งแรงปลอดภัยและความเร็วในการก่อสร้าง ซึ่งมองว่ารูปแบบที่ 1 สามารถดำเนินการได้รวดเร็วและการก่อสร้างไม่กีดขวางทางจราจร นอกจากนี้ยังสั่งการให้กรมเจ้าท่าไปพิจารณาการใช้ยางพารามาใช้รับแรงกระแทกที่ท่าเรืออีกด้วย

มั่นใจว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้เงินถึงมือเกษตกรและเพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชน ยางพาราครอบแบริเออร์เป็นนวัตกรรมที่มีการรองรับมาตรฐานโดยสหรัฐฯ ลดอุบัติเหตุได้จริง นอกจากนี้จะสร้างสะพานลอยเพิ่มทั่วประเทศ และจะหาวิธีไม่ให้สัตว์มาวิ่งตัดหน้ารถบนถนน เพื่อการเกิดอุบัติเหตุ

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า สรุปการใช้น้ำยางพาราปี 2562 พบว่ามีการใช้น้ำยางพารามาพัฒนาถนนเพิ่มขึ้นกว่าปี 2561 ที่ราว 34,313 ตัน ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะใช้ยางพาราไปดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ แผ่นยางรองรางรถไฟ, แผ่นยางครอบหมอนคอนกรีตอัดแรงสำหรับรองใต้แผ่นปูทางผ่าน และแผ่นปูทางผ่านที่มีส่วนผสมของยางธรรมชาติ

 

ทั้งนี้ จากการประเมินมองว่าการสร้างแบบสลิงแล้วมีตัวเลโก้ยางพารามาหุ้มสลิงนั้นก่อสร้างยาก เนื่องจากจะต้องมีการเจาะถนน เพื่อวางหลักและมีต้นทุนที่สูงกว่าการทำแบริเออร์แล้วหุ้มด้วยยางพาราอีกชั้น(Temporary Barrier) รวมถึงมีความปลอดภัยมากกว่าแบบสลิง โดยมีการให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทกลับไปศึกษาข้อมูลและนำกลับมาเสนอใหม่อีกครั้ง

ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะกลับไปศึกษาในส่วนของทางข้ามถนน ส่วนไม้หมอนรถไฟ เบื้องต้นประเมินว่า อาจจะรับแรงน้ำหนักไม่ไหว ซึ่งได้มีการให้ไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับหินโรยทางว่าสามารถเคลือบยางพาราบนผิวหน้า ไม่ให้หินกระเด็นได้หรือไม่ ในลักษณะคล้ายพาราซอยล์ซีเมนต์

ด้านกรมเจ้าท่า ได้มีการให้ไปออกแบบเพิ่มในเรื่องของท่าเรือ โดยกรมเจ้าท่าให้ข้อมูลว่าในส่วนของท่าเรือจะต้องมีสเปคเฉพาะ เนื่องจากต้องมีการรับแรงสูงของเรือ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง