วันนี้ (29 ส.ค.2562) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว หรือ ซีเออีซี ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกในพื้นที่ 6,500 ไร่ของสนามบินอู่ตะเภา และรัศมี 30 กิโลเมตรรอบสนามบิน ซึ่งอยู่ในจังหวัดใกล้เคียงกับพัทยาและระยองที่ถูกวางไว้เป็นมหานครการบินภาคตะวันออก
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เป้าหมายแรกหลังจากที่ร่วมมือกับ ซีเออีซี คือการสร้างขนส่งสินค้าทางอากาศ หรือ Cargo เพื่อกระจายสินค้าของไทยไปยังจีน เช่น ผลไม้ อาหารทะเล และขยายสินค้าไปสหภาพยุโรป โดยนำรูปแบบของสนามบินเจิ้งโจวมาใช้ในพื้นที่อีอีซี ที่ปัจจุบัน ซีเออีซี ใช้สนามบินในการขนส่งสินค้าร้อยละ 60 ของภาพรวมการขนส่งทั้งประเทศ ขนส่งสินค้าไปสหภาพยุโรปและหลายประเทศ
ซีเออีซี ใช้เวลาสร้างสนามบิน 5 ปี แต่ในช่วง 3 ปีสามารถพัฒนาให้สนามบินเป็นศูนย์ขนส่งกระจายสินค้า สัดส่วน 60% จากจีนไปหลายประเทศ รวมถึงยุโรป เพราะมีการบริหารจัดการที่ดี แต่ไทยจะทำได้เร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับคนไทยทั้งประเทศ
นอกจากนี้ในเดือน ก.ย.จะเดินทางไปมณฑลกวางตุ้ง เพื่อเจรจาดึงนักลงทุนจากจีนเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีและในไทย
ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ อีอีซี เปิดเผยว่า อนาคตต้องการที่จะเชื่อมเมืองการบินทางเหนือ จากเจิ้งโจว และเมืองการบินตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชีย จากอู่ตะเภา จะเป็นศูนย์กลางนำเข้าสินค้าจากไทยไปจีน เพื่อเป็นช่องทางและขยายตลาด ส่งเสริมให้เกษตรกรไทยและผู้ประกอบการไทยมีรายได้สูงขึ้น รวมถึงให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมร่วมกัน ทั้งอีคอมเมิร์ซ ไอที ซึ่งปัจจุบันซีเออีซี มีบริษัทไอทีและเข้ามาลงทุนในพื้นที่กว่า 60 ราย มีบริษัทเกี่ยวข้องกับการขนส่งทางอากาศถึง 36 บริษัท ธุรกิจอีคอมเมิร์ส 431 บริษัท และบริษัทซ่อมเครื่องบินอีก 5 บริษัท จึงมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์อุตสาหกรรมที่ในพื้นที่อีอีซี
ภายในเดือน ก.ย.คณะกรรมการอีอีซี จะเดินทางไปเจรจารายละเอียดกับซีเออีซี เพื่อเริ่มการลงทุนทันที
ด้านนายหม่า เจี้ยน ผู้อำนวยการเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว ระบุว่า การพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกของไทย จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของไทยในรอบ 30 ปี เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในจีน โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว ที่เพิ่งเปิดใช้งานมาได้เพียงแค่ 3 ปี แต่ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการแล้วกว่า 27 ล้านคน มีการใช้สนามบินเพื่อขนส่งสินค้า คิดเป็นร้อยละ 60 ของประเทศ มีสินค้าที่ขนส่งมากกว่า 515,000 ตัน มีการผลิตมือถือได้ 1,300 ล้านเครื่องในปี 2561 โดยผลิต iPHONE จำนวน 750 ล้านเครื่อง
มหานครการบินซีเออีซี ออกแบบโดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 เขตคือ เขตสนามบิน เป็นพื้นที่ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ และคลังสินค้า E-Commerce, เขตเมือง เป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัย การศึกษา โรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์, เขตอุตสาหกรรม สำหรับธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเขตศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง