วันนี้ (1 ก.ย.2562) ชุมชนคลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม จัดงานครบรอบ 9 ปี โฉนดชุมชน ณ สหกรณ์บ้านคลองโยง โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เข้าร่วม รวมถึงมีการนำผลผลิตจากพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนจากทั่วประเทศมาร่วมจัดแสดง เพื่อให้เห็นถึงความมั่นคงทางอาหาร พร้อมจัดเวทีเสวนาเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น "9 ปีโฉนดชุมชนสู่ความยั่งยืน"
นายบุญลือ เจริญมี ประธานสหกรณ์บ้านคลองโยง ระบุว่า หลังรับมอบโฉนดชุมชน 1,803 ไร่ จากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ที่มีวัตถุประสงค์ให้จัดการที่ดินในรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วม ที่ไม่ใช่เพียงต้องการให้เกษตรกรมีที่ดินที่มั่นคง แต่ต้องผลิตอาหารที่ปลอดภัยป้อนสู่ตลาดด้วย จึงมีการรวบรวมชาวบ้านเพื่อทำเกษตรที่ปลอดภัย แต่ยังไม่ใช่เกษตรอินทรีย์ เพราะการปรับเปลี่ยนต้องใช้เวลา ขณะที่ผลผลิตช่วงแรกก็น้อยกว่าปกติ รายได้จึงไม่เพียงพอต่อภาระและหนี้สิน แม้เกษตรกรจะสามารถกำหนดราคาได้เองตามมูลค่า แต่สหกรณ์ฯ ก็ยังขาดเงินทุนหมุนเวียนและระบบการจัดการ รวมถึงช่องทางการจำหน่าย ทำให้ปัจจุบัน เกษตรกรบางส่วนต้องหันไปผลิตในรูปแบบเดิมและพึ่งพาสารเคมี
บุญลือ เจริญมี
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ที่นำข้อเรียกร้องของภาคประชาชนไปสานต่อ นำมาสู่การมอบโฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศไทยได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2554 ระบุว่า การที่ชุมชนมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองเป็นเพียงก้าวแรก แต่ยังจำเป็นต้องพึ่งนโยบายที่เกี่ยวเนื่องกัน เพื่อส่งเสริมให้การใช้ประโยชน์ที่ดินยั่งยืนและสามารถพึ่งพาตัวเองได้ แต่ที่ผ่านมาแม้จะมีหลายนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาเรื่องเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่หลักคิด จึงทำให้โฉนดชุมชนไม่คืบหน้ามากนัก มีเพียง 3 ชุมชน จาก 485 ชุมชน ที่ได้รับโฉนดชุมชน
ผมไม่ได้ติดใจว่าทุกพื้นที่ต้องแก้ด้วยวิธีนี้ วิธีนี้ไม่ได้เป็นวิธีเดียวที่จะแก้ได้ แต่วิธีนี้ เป็นวิธีที่ตอบโจทย์หลายอย่าง สร้างความมั่นคง สามารถกำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้ที่ดินได้ ให้เขาบริหารจัดการกันเอง เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง
พีมูฟจวกรัฐบาล นโยบายที่ดินไม่ชัดเจน
นายประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาพีมูฟ ระบุว่า รัฐยังมองการจัดการที่ดินที่ให้เกษตรกรมีสิทธิเป็นเพียงผู้เช่า หรือขออนุญาตจากหน่วยงานราชการ หลักคิดเหล่านี้ ไม่เพียงสะท้อนว่าสิทธิชุมชนไม่ได้รับการยอมรับ แต่ยังเป็นการลิดรอนสิทธิ
ประยงค์ ดอกลำใย
พล.อ.ประยุทธ์ แถลงเมื่อเดือนกันยายน 2557 ไว้ชัด ว่าจะบริหารจัดการที่ดินแบบกรรมสิทธิ์ร่วม ไม่ใช่แบบปัจเจก และให้ชุมชนบริหารจัดการที่ดินร่วม แต่ปัญหาก็คือว่า นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ค่อนข้างไม่ชัดเจนมากที่สุด เมื่อเทียบกับ 3 รัฐบาลที่ผ่านมา
นายประยงค์ ยังกล่าวถึงกรณีการจัดการที่ดินแบบกรรมสิทธิร่วม หรือ โฉนดชุมชน ซึ่งเข้าข่ายต้องเสียภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่จะเริ่มเก็บภาษีต้นปี 2563 ซึ่งหากคิดตามประเมินมูลค่าที่ดิน 1,803 ไร่ ไร่ละ 1 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งหมดราว 1,800 ล้านบาท เข้าข่ายที่ต้องเสียภาษีในเพดานสูงสุด ร้อยละ 0.1 แต่ในความเป็นจริง ที่ดินผืนนี้มีการถือครองในลักษณะรายย่อย เพียงแต่มีการจัดการร่วมกันภายใต้สหกรณ์บ้านคลองโยง ซึ่งเวทีวันนี้ มีข้อเสนอให้ประสานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการออกกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นภาษี ก่อนแก้ไขรายละเอียดในเนื้อหากฎหมายอีกครั้ง
สำหรับพื้นที่ที่ได้รับการออกโฉนดชุมชนแล้ว มีทั้งหมด 4 แปลง ได้แก่ ชุมชนคลองโยง ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 2 แปลง ชุมชนบ้านแม่อาว ต.นครเจดีย์ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน และชุมชนพระธาตุขิงแกง ต.พระธาตุขิงแกง อ.จุน จ.พะเยา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พีมูฟจัดเต็ม ขอใช้กลไกสภาฯตั้ง กมธ.นโยบายภาค ปชช.
"วราวุธ" แจงนโยบายที่ดิน "พีมูฟ" ซัด ถอยหลังกว่ารัฐบาลก่อนๆ
"เครือข่ายที่ดินอีสาน - อนาคตใหม่" จี้รัฐใช้นโยบายแก้ปัญหาที่ดิน