ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เทคนิคการดูแลบ้านหลังน้ำลด

สังคม
4 ก.ย. 62
19:40
756
Logo Thai PBS
เทคนิคการดูแลบ้านหลังน้ำลด
หลังการจากไปของพายุ "โพดุล" และ "คาจิกิ" สถานการณ์ฝนหลังจากนี้จะค่อยๆเริ่มคลี่คลายลง แต่บ้านเรือนหลายหลังที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมก็ต้องการการดูแล

Thai PBS ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม จาก อิทธิพลของพายุ ”โพดุล” ซึ่งหลังจากนี้ แม้ว่าระดับน้ำจะลดลง ฝนจะเริ่มเบาบางลง..แต่ ปัญหาอาจยังไม่จบ หลายครอบครัวยังต้องเหน็ดเหนื่อยกับการทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยเจอประสบการณ์น้ำท่วมบ้านมาก่อน อาจไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นจัดการอย่างไรจึงจะถูกวิธี ประหยัดทั้งเวลา งบประมาณ และเหนื่อยน้อยที่สุด 

การทำความสะอาด

1. พื้น

- ด้านนอกอาคาร แนะนำให้ทำความสะอาดโดยการฉีดน้ำล้าง การขัด และใช้น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ สามารถ ล้างแบบเปียกได้แล้วทิ้งให้แห้ง สามารถใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรครวมด้วยเพื่อความสะอาด
- ด้านในอาคาร เช็ดทำความสะอาด หากคราบฝังแน่น ขัดด้วยแปรงหรือแผ่นขัด และใช้น้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ  รวมทั้งสามารถใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรครวมด้วยเพื่อความสะอาด

** หมายเหตุ หากพื้นที่กว้างสามารถใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง หรือเครื่องขัดพื้นทำความสะอาด  จะช่วยลดเวลาลงได้มาก

- พื้นไม้ จะสะสมความชื้นไว้สูง ควรใช้น้ำยาทำความสะอาดและน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ในการทำความสะอาด ล้าง หรือเช็ดถู
- พื้นพรม หากสะสมความชื้นสูง แนะนำให้เปลี่ยนใหม่จะดีกว่า เพื่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย หากไม่ชื้นมากให้ใช้เครื่องซักพรมทำความสะอาด หรือซักล้างด้วยแปรงขัดล้างทำความสะอาด แล้วใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดน้ำเพื่อดูดน้ำกลับ ระวังพรมบางประเภทไม่ทนต่อน้ำ กาวหรือขนพรมอาจหลุดได้

2. กำแพง

- ด้านนอกอาคาร ทำความสะอาดโดยการฉีดน้ำล้าง การขัด และใช้น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ สามารถ ล้างแบบเปียกได้แล้วทิ้งให้แห้ง สามารถใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรครวมด้วยเพื่อความสะอาด
- ด้านในอาคาร เช็ดทำความสะอาด หากคราบฝังแน่น ขัดด้วยแปรงหรือแผ่นขัด และใช้น้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ สามารถใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรครวมด้วย เพื่อทำความสะอาด แต่สีผนังอาจหลุด จะต้องแต่งใหม่
- วอลเปเปอร์ เช็ดทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรค

3. เฟอร์นิเจอร์

- ตู้ บิลอิน หลังเช็ดถูทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคแล้ว ควรเปิดหน้าบานระบายความชื้น
- เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ฉีดล้างทำความสะอาด นำไปตากแดด หากเป็นเฟอร์นิเจอร์ผ้า จะเปียกและสะสมความชื้นสูง แนะนำให้เปลี่ยนใหม่จะดีกว่า เพื่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย หากไม่ชื้นมากให้ซักล้างด้วยแปรงขัดล้างทำความสะอาด แล้วใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดน้ำเพื่อดูดน้ำกลับ

4. เครื่องใช้ต่างๆ

- เครื่องครัว ควรแช่ทำความสะอาดในน้ำผสมคลอรีน หรือ แอลกอฮอล์ เพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วนำไปแช่ในน้ำเดือดต้มทำความสะอาดอีกครั้ง
- เครื่องเงินและโลหะ ให้แช่ในน้ำเดือด เพื่อเป็นการต้มทำความสะอาด

ขั้นตอนการลงมือทำ

หลังจากตรวจเช็กทุกอย่างจนแน่ใจแล้ว ก็มาถึงวิธีการทำความสะอาดขนานใหญ่ โดยเริ่มตามโปรแกรม ดังนี้

1. เริ่มด้วยการขนย้ายสิ่งของต่าง ๆ (ภายในบ้าน) ออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อสะดวกในการจัดการกับโคลนตมที่มากับน้ำ ให้ใช้พลั่วตักดินโคลนออกจากพื้นบ้านให้ได้มากที่สุด

2. ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง (ถ้ามี) หรือสายยางฉีดน้ำเพื่อชะล้างโคลนออกจากพื้นผิว อุปกรณ์อย่างหนึ่งที่จะช่วยผ่อนแรงได้มากคือ ไม้ปาดน้ำ หากไม่มีและพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก สามารถใช้ผ้าขนหนูทำเป็นผ้าลากน้ำได้ โดยเน้นการกำจัดดินโคลนออกไปให้หมด

3. เรื่องของพื้น หากพื้นบ้านของท่านมีการใช้วัสดุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไวนิล, เสื่อน้ำมัน, พรม, ปาร์เกต์ ฯลฯ มีความจำเป็นที่จะต้องรื้อวัสดุปูพื้นเหล่านั้นออกเพื่อให้พื้นด้านล่างแห้ง ซึ่งกว่าจะแห้งสนิทอาจใช้ระยะเวลานานพอสมควร

4. การทำความสะอาดพื้นทุกชนิด ต้องพิจารณาดูตามความเหมาะสมของพื้น โดยทั่วไป ๆ สามารถใช้น้ำผสมคลอรีนในอัตราส่วน 0.1% (1 CC ต่อน้ำ 1,000 CC) ฉีดพ่นให้ทั่วบริเวณก่อน แล้วจึงขัดถูพื้นด้วยน้ำยาล้างจาน หรือผงซักฟอก ขัดถูให้ทั่วบริเวณ แล้วจึงราดด้วยน้ำร้อนเดือด ๆ หรือใช้ผลิตภัณฑ์น้ำยาเคมีทำความสะอาดที่สามารถฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ ซึ่งต้องอ่านฉลากวิธีใช้ให้ละเอียด และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

5. หากเป็นไปได้ควรใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ กำจัดกลิ่นที่เป็นสารชีวภาพเอนไซม์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อ กำจัดกลิ่น กำจัดคราบไขมันได้

** ข้อดี คือ สารชีวภาพเอนไซม์นั้นจะยังคงมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อที่จะเกิดขึ้นใหม่จากความชื้นต่อไปได้อีกนานประมาณ 3-6 เดือน ตราบที่พื้นยังมีความชื้นอยู่ และที่สำคัญสารชีวภาพเอนไซม์นั้นไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

6. สำหรับพื้นบ้านที่ปูพรม ถ้าพื้นบ้านที่ปูพรมจมอยู่ใต้น้ำท่วมหรือน้ำเสีย ควรจะตัดใจกำจัดทิ้งไปเพื่อความปลอดภัยของสุขภาพ เพราะพรมเป็นแหล่งเพาะเชื้อราอย่างดี

** หมายเหตุ การทำความสะอาดพรมด้วยตัวเองเป็นเรื่องยาก ต้องใช้มืออาชีพที่เชื่อถือได้ว่าจะใช้น้ำยาซักพรมที่ฆ่าเชื้อกำจัดกลิ่น และใช้เครื่องมือซักพรมชนิดพิเศษที่สามารถทำความสะอาดได้ล้ำลึก แต่ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดค่อนข้างสูง ควรพิจารณาให้ดี

เตรียมพร้อมรับมืออยู่กับน้ำ (ในคราวหน้า)

  • หากเลือกได้ ปูพื้นบ้านด้วยกระเบื้องดูจะเป็นทางเลือกที่ง่ายต่อการทำความสะอาดที่สุด
  • ถังส้วม อย่าฝังไว้ในดิน ลองประยุกต์พื้นที่จัดวาง เช่น ใต้บันได
  • กล่องไฟแยกระบบชั้นบน-ชั้นล่างชัดเจน ถึงเวลาน้ำมาตัดไฟชั้นล่าง ใช้ชีวิตชั้นบนได้ตามปกติ
  • ทุกชุมชนควรกำหนดพื้นที่พักขยะหรือซากปรักหักพัง เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติไว้อย่างชัดเจน ขยะจะได้ไม่ล้นทะลัก และช่วยให้ง่ายต่อการจัดการในภายหลัง

 

ข้อมูลจาก TU Thai Flood

ข่าวที่เกี่ยวข้อง