วันนี้ (12 ก.ย.2562) กระทรวงการคลัง เปิดโครงการเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ประกอบการ เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำ ของนโยบายและแนวทางป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขอให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ เรียนรู้บทเรียนคดีทุจริตคอร์รัปชันในอดีต ซึ่งข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐมักถูกพิพากษาจำคุกเพราะมีลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ แต่หากข้าราชการ ปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานขั้นต่ำ ในการดำเนินโครงการจัดซื้อจัดจ้าง จะช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาเงินทอนประมูลงานภาครัฐ และเอกชน ไม่ต้องเสี่ยงถูกยึดทรัพย์ ตามกฎหมายฟอกเงิน
ทั้งนี้ หากสังคมไทย สามารถสร้างวัฒนธรรมการทำงานอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม จะช่วยขจัดนักการเมืองที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากการประมูลโครงการภาครัฐส่งผลดีต่อการเมืองและประเทศชาติ แม้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง
เดี๋ยวนี้ ศาลตัดสินเร็วนะครับ คนชั่วต้องได้ชั่ว เห็นผลเร็ว แต่หากเราช่วยกันสร้างวัฒนธรรมที่ทำงานอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม ไม่ต้องไปนอนคุก แถมช่วยการเมืองให้ดีขึ้น ได้แต่นักการเมืองที่ดีเข้ามาบริหารประเทศ เพราะไม่สามารถแสวงหาประโยชน์จากโครงการประมูลงานภาครัฐได้เหมือนอดีตอีกต่อไป
สำหรับแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา กำหนดให้โครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 500 ล้านบาท ต้องเขียนนโยบายปฏิบัติและจรรยาบรรณธุรกิจ ซึ่งมีคำจำกัดความ และ คณะทำงานป้องกันการติดสินบนและทุจริตรูปแบบต่าง ๆ อย่างชัดเจน รวมทั้งเผยแพร่แนวทางปฏิบัติดังกล่าวต่อสาธารณชน และเปิดช่องทางให้บุคคลภายนอกสามารถร้องเรียนได้ด้วย
แต่หากเป็นโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จะต้องตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญภายนอก เข้าร่วมสังเกตการณ์และเสนอแนะการออกประกาศหลักเกณฑ์ประมูล (TOR) โดยราคากลางที่กำหนด ต้องมีที่มาอ้างอิงได้ ตามเงื่อนไข โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (คอร์ส) และข้อตกลงคุณธรรม ที่ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งมาตรการเหล่านี้ ช่วยรัฐประหยัดงบประมาณ ลงได้มากกว่า 100,000 ล้านบาท