วันนี้ (13 ก.ย.2562) พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวถึงคืบหน้าการไต่สวนคดีทุจริตปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติลดภาวะโลกร้อนปี 2555-2556 จำนวน 4 แปลง เนื้อที่ 4,200 ไร่ ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หลังพบข้อมูลกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่าจ้างบริษัทเอกชนคู่สัญญาในวงเงิน 15 ล้านบาท
สำนวนคดีดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ท.เขตพื้นที่ 7 ซึ่งได้รับรายงานว่า การสืบสวนสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว เตรียมบรรจุเป็นวาระให้บอร์ด ป.ป.ท.มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนความผิดได้ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ จากนั้นจะต้องรอผลว่าคณะอนุกรรมการชุดนี้จะมีมติไต่สวนหรือทำอย่างไรต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการปลูกป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (ในขณะนั้น) เป็นผู้เขียนโครงการ กำหนดราคากลาง และเป็นคณะกรรมการตรวจงานจ้าง ซึ่งพบว่าเดิมครั้งแรกเสนอปลูกป่าเพียงจุดเดียว ต่อมากลับขอปลูกเพิ่มรวมเป็น 4 จุด คือ บริเวณใจแผ่นดิน บ้านโป่งลึก-บางกลอย และเหนือบางกลอย รวมวงเงินทั้งสิ้น 15 ล้านบาท ซึ่งหากใช้ตัวเลขพื้นที่ปลูกป่าตามหลักการไร่ละ 200 ต้น เท่ากับต้องใช้กล้าไม้ในการปลูกป่ามากถึง 800,000 ต้น จึงจะครอบคลุมเนื้อที่ 4,200 ไร่
เรื่องนี้ผู้ร้องขอให้ ป.ป.ท.ตรวจสอบว่า ไม่ได้มีการปลูกป่าจริง แต่กลับมีการเบิกงบ เพราะสภาพพื้นที่ 4 จุด จากการตรวจสอบจากภาพถ่ายดาวเทียม ไม่พบร่องรอยการปลูกป่า การเจาะหลุม ถาง และสภาพของต้นไม้ที่ปลูกหลายปีก็น่าจะเติบโต ถ้าหากปลูกป่าจริงจะต้องมีหย่อมป่าปลูกขึ้นเป็นหย่อมๆ
กระทั่งในปี 2561 เมื่อมีการร้องเรียนแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บินสำรวจสภาพพื้นที่จริง ก็ไม่พบว่ามีการปลูกป่า รวมทั้งลงตรวจสอบป่าที่อ้างพิกัดปลูก ก็ไม่พบว่ามีการปลูกจริง แต่พบพิรุธการปักป้ายนอกระยะปลูกป่าหลายกิโลเมตรว่า ปลูกป่าเหนือหมู่บ้านริมน้ำ 2 ป้าย ทั้งนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าพื้นที่ทั้ง 4 จุดการเข้าถึงยากลำบาก หากจะขนกล้าไม้เข้าไปจะใช้ทางเรือทวนแม่น้ำขึ้นไปก็ยากลำบาก
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
กรมอุทยานฯแจงปลูกป่าแก่งกระจาน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 พ.ค.62 กรมอุทยานฯ ลำดับเหตุการณ์โครงการปลูกป่า 4,200 ไร่ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เผยแพร่ข้อมูลว่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ชี้แจงข้อเท็จจริงเบื้องต้น และขอยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการตาม TOR ตามขั้นตอน และตามระเบียบที่ระเบียบพัสดุที่กำหนด ดังนี้
- 6 ม.ค.55 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 พื้นที่เพชรบุรี ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง โครงการฯปลูกป่า
- 23 ม.ค.55 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จัดส่งรายละเอียดเพื่อประกอบการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่ง กำหนดแปลงปลูกป่า จำนวน 4 แปลง ตามเอกสารประกอบ
- 22 ก.พ.55 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 พื้นที่เพชรบุรี แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดรายละเอียด และราคากลาง มีนายชัยวัฒน์ เป็นประธาน)
- 29 ก.พ.55 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ส่งรายละเอียดเพิ่มเติม
- 15 มี.ค.55 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 พื้นที่เพชรบุรี แต่งตั้งคณะกรรมการร่างขอบเขตงาน
- 8 เม.ย.55 ร่างขอบเขตงานแล้วเสร็จ
- 8 พ.ค.55 ประกวดราคาจ้าง ครั้งที่ 1 (ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์)
- 30 พ.ค.55 ยกเลิกประกวดราคาจ้างครั้งที่ 1 (ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์)
- 7 มิ.ย.55 ประกวดราคาจ้าง ครั้งที่ 2 (ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์)
- 22 มิ.ย.55 ยกเลิกประกวดราคาจ้าง ครั้งที่ 2 (ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์)
- 29 มิ.ย.55 ขออนุมัติดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ด้วยวิธีพิเศษ
- 29 มิ.ย.55 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจงานจ้าง (นายชัยวัฒน์ เป็นประธาน)
- 29 มิ.ย.55 แต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมงาน
- 13 ก.ค.55 คณะกรรมการจัดจ้าง สืบหาผู้เสนอราคาที่มีคุณสมบัติ ฯ
- 18 ก.ค.55 คณะกรรมการสืบหาผู้ประกอบการได้ จำนวน 3 รายและได้ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน
- 19 ก.ค.55 สำนักฯ 3 แจ้งให้ผู้ที่มีคุณสมบัติมาลงนามสัญญาจ้าง
- 1 ส.ค.55 สำนักฯ 3 ลงนามสัญญาจ้าง
ห่วงเสียเปรียบปลูกป่าหน้าร้อน-ขยายงวดงาน
หลังจากลงนามในสัญญา สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 พื้นที่เพชรบุรี พิจารณาแล้วว่า ในสัญญาให้ส่งงานในวันที่ 28 ม.ค.56 โดยสำนักจะเสียเปรียบบริษัท เนื่องจาก ม.ค.เป็นเดือนที่เริ่มต้นของฤดูแล้ง และเป็นฤดูของการเกิดไฟป่า จึงได้ขอตกลงกับบริษัท เพื่อให้บริษัทไปส่งมอบงาน ในช่วงฤดูต้นฝนในเดือน ก.ค.56 วันที่ 2 ต.ค. 55 สำนักฯ 3 จึงขอขยายงวดงาน เนื่องจากหากปลูกและบำรุงรักษาตามระยะเวลาในสัญญา จะมีอัตราการรอดตายต่ำ เพราะปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ หากขยายระยะเวลา จะทำให้ราชการได้รับประโยชน์ ดังนี้
- งวดที่ 1 เดิม 30 ก.ย.55 แก้เป็น 2 มี.ค 56
- งวดที่ 2 เดิม 29 พ.ย.55 แก้เป็น 31 พ.ค.56
- งวดที่ 3 เดิม 28 ม.ค.56 แก้เป็น 30 ก.ค.56
ผู้รับจ้างแจ้งส่งงาน และคณะกรรมการตรวจงานจ้างตรวจรับเรียบร้อย
- งวดที่ 1 ส่งงาน 4 มี.ค.56 ตรวจรับ วันที่ 12 มี.ค.56
- งวดที่ 2 ส่งงาน 6 มิ.ย.56 ตรวจรับ วันที่ 7 มิ.ย.56
- งวดที่ 3 (สุดท้าย) ส่งงาน 31 ก.ค.56 ตรวจรับวันที่ 6 ส.ค. 56
เมื่อมีการส่งงาน ผู้ควบคุมงานส่งมอบงานให้คณะกรรมการการตรวจการจ้าง ตรวจรับ (มอบให้หัวหน้าอุทยานแก่งกระจานในปี 2556 เรียบร้อยแล้ว
ส่วนป้ายแปลงปลูกป่า ที่มีการปักไม่ตรงแปลงตามข่าว ต้องลงไปตรวจสอบพื้นที่จริงอีกครั้ง และการที่ข่าวอ้างอีกว่ามีการปลูกแค่ 1-2 ไร่ ไม่เป็นความจริงปัจจุบันนี้พื้นที่แปลงปลูกป่าดังกล่าว มีไม้รุ่น 2 ขึ้นทั่วบริเวณพื้นที่เพราะไม่มีไฟป่าและไม่มีการบุกรุกซ้ำ
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ไม่พบชัยวัฒน์เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2562 ในเพจเฟซบุ๊กกรมอุทยานแห่งชาติฯ ระบุว่า จากการเดินลาดตระเวนป่าของนายชัยวัฒน์ ขณะนั้น ยืนยันว่า ขณะที่เดินป่า และเปิดยุทธการชายแดนได้เดินผ่านและเห็นคนงานของบริษัทปลูกป่า ในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุทยานได้ตรวจยึดจากการบุกรุก ซึ่งนายชัยวัฒน์ ได้ของบบำรุงติดต่อกัน 2 ปี ระหว่างปี 56-57 แต่ไม่เคยได้รับงบประมาณบำรุง และนายชัยวัฒน์ได้ย้ายไปรับตำแหน่ง ผอ.ส่วนต้นน้ำ ที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) ช่วง 6 ต.ค.56 และกรมอุทยานฯ ได้แต่งตั้งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานคนใหม่ มารับหน้าที่แทน 6 ต.ค.57
ต่อมาในปีงบประมาณ 2558 แปลงปลูกป่าทั้ง 4,200 ไร่ ได้รับงบประมาณบำรุงป่า 2-6 ปี แต่กลับมีปัญหาการเบิกจ่าย โดยในปีงบประมาณ 2558 นายนิพนธ์ โชติบาล ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานฯ นายสมัคร ดอนนาปี ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้มีการยืมเงินในงบฯ บำรุงรักษาป่า ทั้ง 4 แปลงนี้ เดือนพ.ย.57 และ เดือน ธ.ค.57 มีการนำรายชื่อชาวบ้านไปเบิก จนมีการแจ้งความดำเนินคดี
คำชี้แจงดังกล่าวยังระบุในตอนท้ายด้วยว่า ปัจจุบันนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น เรื่องแปลงปลูกป่าดังกล่าว ส่วนนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวคือ เขียนโครงการ กำหนดราคากลาง และเป็นคณะกรรมการตรวจงานจ้างเท่านั้น