วันนี้ (16 ก.ย.2562) ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานสถานการณ์ภาพรวมน้ำทั่วประเทศ โดยระดับน้ำในแม่น้ำยม แม่น้ำมูล และแม่น้ำชี มีแนวโน้มน้ำลดลง ส่งผลให้สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่มีแนวโน้มน้ำลดลง ได้แก่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก, อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด, อ.เมือง อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร, อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี, อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ, อ.พิบูลมังสาหาร อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี, ลำเซบาย อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร, อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี และลำเสียวใหญ่ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ขณะที่ทุกจังหวัดริมแม่น้ำโขง ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง 0.2 - 1.0 เมตร ยกเว้นเชียงคานและหนองคาย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 0.2 - 0.5 เมตร ในอีก 3 วันข้างหน้า
สำหรับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำ มีปริมาณน้ำใช้ได้ทั้งประเทศ 52,177 ล้านลูกบากศ์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 64% แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ต้องเฝ้าระวัง 7 แห่ง ได้แก่ แม่จาง 81% หนองหาร 112% ลำปาว 84% สิรินธร 92% ศรีนครินทร์ 84% วชิราลงกรณ 89% และแก่งกระจาน 82% เฝ้าระวังน้ำน้อย 9 แห่ง โดยมีแนวโน้มปริมาตรน้ำเพิ่มขึ้น 28 แห่ง ซึ่งถึงปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลลงแหล่งน้ำรวม 20,505 ล้าน ลบ.ม. ระบายออกรวม 13,215 ล้าน ลบ.ม. ส่วนแหล่งน้ำขนาดกลาง เฝ้าระวังน้ำน้อย 61 แห่ง มีแนวโน้มปริมาตรน้ำเพิ่มขึ้น 53 แห่ง แหล่งน้ำที่เสี่ยงน้ำมากกว่าความจุ 75 แห่ง ได้แก่ เหนือ 4 แห่ง, ตะวันออกเฉียงเหนือ68 แห่ง และตะวันออก 3 แห่ง
"เขื่อนเจ้าพระยา" ปรับแผนระบายน้ำ
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ระบายน้ำ 7.44 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การ 5,062 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 28% และเก็บน้ำสำรอง 4,740 ล้าน ลบ.ม. ช่วยชะลอน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา
ลุ่มน้ำชี-มูล 8 เขื่อนหลัก ระบายน้ำ 4.11 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การ 1,911 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 32% และเก็บสำรองน้ำเพิ่ม 1,554 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้บริหารจัดการฤดูแล้ง 62/63
ลุ่มน้ำภาคตะวันออก 6 เขื่อนหลัก ระบายน้ำ 0.92 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การ 542 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 38% และเก็บน้ำสำรอง 464 ล้าน ลบ.ม.
นอกจากนี้ยังมีการเฝ้าระวังน้ำหลากและดินโคนถล่ม โดยมีการแจ้งเตือนอพยพประชาชน 4 หมู่บ้านในพื้นที่ อ.บ่อไร่ จ.ตราด และเฝ้าระวัง 1 หมู่บ้านใน อ.กะเปอร์ จ.ระนอง และมีพื้นที่ 5 จังหวัดภาคอีสานยังประสบอุทกภัย ได้แก่ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ อํานาจเจริญ และอุบลราชธานี
สทนช.ยังระบุว่า ระดับน้ำโขงยังต่ำกว่าตลิ่ง ส่งผลให้แม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี ลดลงต่อเนื่อง คาดอีก 24 วันระดับน้ำลดลงเท่าระดับตลิ่ง พร้อมประเมินมวลน้ำคงค้าง จ.อุบลราชธานี 2,700 ล้าน ลบ.ม. หลังทุกหน่วยระดมเร่งผลักดันน้ำไหลลง พร้อมเสนอแนวทางระยะสั้นและเร่งด่วน 4 แนวทางหลัก คือ เฝ้าระวังพื้นที่ที่มีการไหลย้อนของแม่น้ำมูลตามลำน้ำสาขาฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก, ติดตามข้อมูลฝนในเขต จ.อุบลราชธานี และพื้นที่ต้นน้ำที่ไหลลงมูลล่างและในพื้นที่มูลล่าง พร้อมเฝ้าระวังในกรณีร่องมรสุมที่ตกแช่ในพื้นที่หลายวันและในกรณีพายุพัดผ่าน, นำแผนที่เส้นชั้นความสูงทุกระยะ 2 เมตร วิเคราะห์ทิศทางของพื้นที่น้ำท่วมตามการคาดการณ์ระดับน้ำ เพื่อใช้ในการเตือนภัย เตรียมความพร้อม อพยพประชาชน และเร่งพร่องน้ำในแม่น้ำมูล เพื่อลดระดับน้ำให้ลดลงต่ำ รองรับน้ำฝนที่จะตกในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. โดยการลดน้ำหลากจากตอนบนเร่งระบายน้ำท้ายน้ำ