ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

IUCN ระบุประกาศมรดกโลก กระตุ้นแก้ปัญหาแก่งกระจานเป็นระบบ

สิ่งแวดล้อม
16 ก.ย. 62
15:27
1,009
Logo Thai PBS
IUCN ระบุประกาศมรดกโลก กระตุ้นแก้ปัญหาแก่งกระจานเป็นระบบ
กรมอุทยานฯ แก้ 3 ข้อท้วงติง คณะกรรมการมรดกโลก เพื่อเสนออุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทางธรรมชาติอีกครั้ง

วันนี้ (16 ก.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงวันที่ 10-13 ก.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ IUCN หรือ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อเก็บข้อมูลในพื้นที่ทั้ง สภาพพื้นที่ ระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งพูดคุยกับชุมชนชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ด้วย

 

ซึ่งประเด็นการมีส่วนร่วมของชุมชนกะเหรี่ยง ในพื้นที่อุทยานฯ เป็นหนึ่งใน 3 ประเด็นที่เป็นข้อท้วงติง ของคณะกรรมการมรดกโลก เมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา

- ปัญหาแนวชายแดนไทย-เมียนมา มีความชัดเจนหรือไม่ อย่างไร
- การลดแนวเขตพื้นที่ป่าแก่งกระจานลง เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จำนวน 4.3 หมื่นไร่ จะส่งผลกระทบอย่างไร ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
- การให้ความสำคัญและการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ การจัดการที่ดิน สิทธิมนุษยชน ฯลฯ

 

 

ตัวแทน IUCN เดินทางไปพูดคุยกับตัวแทนชุมชนชาวกะเหรี่ยง ที่หมู่ 6  ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ฝั่งตะวันออก ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ตัวแทนคนหนึ่งระบุว่า เรามาพูดคุยเพื่อจะได้รับรู้ปัญหาของชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน เพื่อเก็บข้อมูล และทำความเข้าใจให้มากขึ้น ว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง


ชาวบ้านกะเหรี่ยงคนหนึ่งบอกกับเจ้าหน้าที่ IUCN ว่า มีเพียงชาวบ้านบางส่วนเท่านั้น (ประมาณ 30 ครัวเรือน) ที่ต้องการกลับไปอยู่ที่บ้านบางกลอยบน (ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในอุทยานฯ แก่งกระจาน ก่อนจะถูกย้ายลงมารวมกับบ้านโป่งลึก) แต่ต้องถามอุทยานฯ แก่งกระจาน ด้วยว่าจะกลับไปได้หรือไม่

 

 

ส่วนสาเหตุที่ต้องการกลับไปเพราะต้องการที่ดินทำกินเพิ่มขึ้น หลังจากย้ายลงมาเมื่อปี 2535-2536 ทำให้มีจำนวนประชาชนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันชาวบ้านบางกลอยบน ที่ย้ายลงมาอยู่ที่บ้านโป่งลึก ปัจจุบันมี 220 ครัวเรือน จำนวน 3,380 คน

ชาวบ้านกะเหรี่ยงกล่าวว่า ความเป็นจริงแต่ละครอบครัว จะใช้พื้นที่ทำกินไม่เกินครอบครัวละ 10 ไร่ เพราะหากทำมากกว่านั้นก็จะดูและพื้นที่ไม่ไหว แต่ละครอบครัวจะทำการเกษตร (ปลูกข้าว) เพียง 2 ไร่ แล้วปล่อยให้พื้นที่ที่เหลือฟื้นสภาพเป็นป่า เราจะหมุนเวียนไปแบบนี้เรื่อยๆ

พี่น้องกะเหรี่ยงไม่เข้าใจว่ามรดกโลกคืออะไร มีประโยชน์อะไร เราไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ ว่าเมื่อประกาศแล้วจะกระทบอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไรในมรดกโลก

ชาวกะเหรี่ยงกล่าวต่อว่า เราต้องการที่ดินทำกินมากกว่า จัดการให้ได้แล้วค่อยมาคุยกัน ชาวบ้านไม่มีอะไรในเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะเคยไปดูที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ชาวบ้านก็อยู่ส่วนชาวบ้านไป

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการพูดคุย เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ถามชาวบ้านว่า การสำรวจการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ทำไปแล้ว มีความเห็นอย่างไรกับการมีส่วนร่วมมากขึ้น

ชาวบ้านกะเหรี่ยงบอกว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการจัดการตามความต้องการของชาวบ้าน แต่ทำตามนโยบายของรัฐ และทำตามมติคณะรัฐมนตรี

สิ่งที่เราอยากให้มีคือ การรับรองการสำรวจที่ดิน เพื่อให้ชาวบ้านมีความมั่นใจว่า ที่ดินแปลงนั้นๆ จะเป็นของคนที่ดูแลอยู่ทุกวันนี้ตลอดไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอีก แม้ว่าจะเปลี่ยนหัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจาน ไปแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ระบุว่า เรื่องนี้ผ่านคณะกรรมการไปแล้ว และขั้นตอนต่อไปคือ ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา

 

 

จากนั้น เจ้าหน้าที่ IUCN ได้กล่าวถึงประเด็นมรดกโลกว่า ข้อหนึ่งในประโยชน์ของมรดกโลกคือ ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว จะเป็นตัวอย่าง ที่เห็นชัดที่สุด คือการแบ่งปันที่เท่าเทียมกันของคนในพื้นที่ ต่างประเทศจะให้ความสนใจ และคนทั้งโลกรับรู้ และร่วมกันปกป้องพื้นที่เพื่อไม่ให้ถูกทำลาย

ทิศทางการกำกับดูแลมรดกโลก เราให้ความสำคัญกับการดูแลของชุมชน การมีส่วนร่วม สิทธิมนุษยชน การแบ่งพื้นที่ทำกิน ซึ่งถ้าพื้นที่นี้ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก ก็จะให้ความสำคัญกับชุมชนในพื้นที่ ไม่ใช่แค่พื้นที่อย่างเดียว

นอกจากนี้เรามีทุนสนับสนุนในทุกเรื่อง เช่น การบริหาร ธรรมาภิบาล การอนุรักษ์ ระบบนิเวศ ฯลฯ การเป็นมรดกโลก ไม่ได้จำกัดการเข้าถึงใดๆ ของการใช้ทรัพยากรทั้งสิ้น รวมทั้งยังปกป้องดูแลคนในชุมชน ให้มีวิถีชีวิตในรูปแบบดั้งเดิม เพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างปกติ

 

 

ชาวบ้านไม่ได้คัดค้านการเป็นมรดกโลก แต่อยากได้สิทธิในที่ดินทำกินเท่านั้นเอง

เจ้าหน้าที่ IUCN กล่าวตอบว่า สิ่งนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้การจัดการปัญหาเป็นผลที่ดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปด้วยกัน การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก คือการบริหารจัดการที่ถูกต้อง เหมาะสม ไม่ใช่แยกกันทำ แต่ทำอย่างมีประสิทธิภาพ และมีส่วนร่วมกับชุมชน

การประกาศเป็นมรดกโลก เป็นความภาคภูมิยินดี เป็นเกียรติยศ ชื่อเสียงของประเทศ แต่ต้องไม่มีใครได้รับความเดือดร้อน หลังการประกาศรับรอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง