น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ หนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร ในสัดส่วนพรรคอนาคตใหม่ และเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน เปิดเผยในรายการตอบโจทย์ ทางไทยพีบีเอสว่า
คนใกล้ชิดเป็นที่ปรึกษา น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เล่าให้ฟังว่า มีข้อเสนอให้ น.ส.มนัญญา ยุติบทบาทการแบนสารพาราควอต ด้วยการจ่ายค่าตอบแทนสูงถึง 9 หลัก สะท้อนว่ามูลค่าการตลาดของสารเคมีสูง และกลุ่มทุนพร้อมจะลงทุน แต่สำหรับกรรมาธิการที่สภาตั้งขึ้นมาด้วยมติเอกฉันท์ มีที่มาจากหลายภาคส่วน การต่อรองอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนที่เคยทำ
ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทยและ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศที่จะแบนสารเคมีการเกษตรมีวิบากกรรมมากมาย เช่น มาเลเซีย เคยแบน แต่รัฐบาลมาเลเซียเปลี่ยนใจให้กลับมาใช้ต่อ โดยชัดเจนว่าเป็นอิทธิพลของบริษัท แต่วันที่ 1 ม.ค.2563 มาเลเซียจะแบนอีกครั้ง หรือในประเทศบราซิล กระทรวงสาธารณสุขประกาศแบนในวันที่ 1 ม.ค.2563 เช่นกัน ซึ่งกำลังต่อสู้เรื่องนี้อยู่
สำหรับ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร พยายามผลักดันการยกเลิกสารเคมีการเกษตรที่มีความเสี่ยงสูงคือ พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต ภายในสิ้นปีนี้ และล่าสุดเดินทางไปที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เพื่อทวงถามข้อมูลสต๊อกสารเคมีด้วยตัวเอง