ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เชียงราย" ห้ามย้ายสัตว์ 6 เดือน หลังอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาด

ภูมิภาค
18 ก.ย. 62
10:53
1,067
Logo Thai PBS
"เชียงราย" ห้ามย้ายสัตว์ 6 เดือน หลังอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาด
กรมปศุสัตว์ระดมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ขณะที่ จ.เชียงราย ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ 6 เดือน หลังมีสุกรในพื้นที่ติดเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในหลายอำเภอ โดยเฉพาะ อ.แม่สาย และ อ.แม่จัน ทำให้ต้องทำลายสุกรไปแล้วหลายร้อยตัว

วันนี้ (18 ก.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจทั้ง 12 แห่ง ของ จ.เชียงราย โดยเฉพาะขาเข้า จากชายแดนด้าน อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และขาออกไปต่างจังหวัดด้าน อ.พาน ได้เพิ่มมาตรการในการตรวจค้นอย่างเข้มงวดทั้งการตรวจตราดูแลด้านยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายทั่วไปรวมทั้งยังเข้มงวดด้านการเคลื่อนย้ายสัตว์อีกด้วย

 

 

หลังจากมีคำสั่งของ จ.เชียงราย ประกาศห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์เป็นระยะเวลา 6 เดือน เนื่องจากมีสุกรในพื้นที่ติดเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในหลายอำเภอ โดยเฉพาะ อ.แม่สาย และ อ.แม่จัน ทำให้ต้องทำลายสุกรไปแล้วหลายร้อยตัว

นายสัตว์แพทย์ นพพร มหากันธา ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า จ.เชียงราย ได้ออกมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยแจ้งข่าวการขับเคลื่อนมาตรการสำคัญของกรมปศุสัตว์ และ จ.เชียงราย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่จะดูแลสุขอนามัยของประชาชนอย่างเต็มที่ กรมปศุสัตว์เดินหน้าป้องกัน ASF เข้ม วอนอย่าตระหนกบริโภคสุกรได้ปลอดภัย

 

 

ด้านนายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ปศุสัตว์ทุกจังหวัด ภาคเอกชน และเกษตรกรทุกพื้นที่ให้ดำเนินมาตรการป้องกัน ASF เข้มข้นอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างที่ จ.เชียงราย ที่สามารถดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคได้อย่างรัดกุม และเพิ่มการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในการรับซื้อหมูจากเกษตรกรรายย่อยที่มีความเสี่ยงในรัศมีใกล้เคียงแล้วนำไปเชือด เพื่อแปรรูปปรุงสุก หรือฝังทำลาย ซึ่งขึ้นกับผลการประเมินความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันโรคตามปกติ แม้สุกรจะยังไม่มีอาการป่วยตาย เพื่อตีกรอบความเสี่ยงให้อยู่ในวงจำกัด อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า ASF ไม่ติดต่อสู่คน ผู้บริโภคไม่ต้องกังวล สามารถบริโภคเนื้อสุกรได้ตามปกติ และปลอดภัย

 

 

นายสัตวแพทย์ สรวิศ ระบุอีกว่า การทำลายสุกรในรัศมีใกล้เคียงพื้นที่พบสุกรติดเชื้อ ทั้งที่สุกรยังไม่มีอาการป่วยนั้น ถือเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการระบาดของโรคที่ได้ผล สำหรับการจัดเตรียมค่าชดเชยในการทำลายสุกรนั้น กรมปศุสัตว์ได้ขอความร่วมมือจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรแล้ว

 

 

ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวล สิ่งที่จำเป็นคือหากใครพบการป่วยตายของสุกร ขอให้รีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอให้เร็วที่สุด หรือแจ้ง อสม. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน โดยทันที เพื่อการเข้าไปกำจัดและควบคุมเฝ้าระวังไม่ให้มีความเสี่ยงที่จะแพร่กระจายออกไป ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทุกคน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง