วันนี้ (18 ก.ย.2562) สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย นำอาหารทะเลที่ได้จากการระดมของเครือข่ายประมงพื้นบ้านในพื้นที่หลายจังหวัดภาคใต้ เช่น ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สงขลา และสตูล ร่วมช่วยเหลือเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย จ.อุบลราชธานี ที่มีอยู่กว่า 1,000 ครอบครัว
FB : Wichoksak Ronnarongpairee
โดยปลาทะเลและสัตว์น้ำที่จับได้ เช่น ปลาอินทรีย์สดจากกลุ่มประมงพื้นบ้านสตูล และร้านคนจับปลา ที่นำมาแปรรูปทำปลาอินทรีย์เค็มแดดเดียว หรือ สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ที่กลุ่มแม่บ้านแปรรูปปลาจวด ทำเป็นปลาจวดเค็ม โดยปลาจวด ถือเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญของอ่าวไทยในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยทั้งหมดเป็นการถนอมอาหารตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ผู้ประสบภัยสามารถเก็บไว้ได้นานหลายเดือน
FB : Wichoksak Ronnarongpairee
FB : Wichoksak Ronnarongpairee
นอกจากนี้ สมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระได จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็ได้นำปลาและหมึกสด ส่งไปช่วยประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วย
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ผู้ประสานงานความช่วยเหลือระหว่างเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ระบุว่า ที่ผ่านมา กลุ่มประมงพื้นบ้าน ต้องประสบเหตุภัยพิบัติหลายครั้ง จึงมีความเข้าใจความรู้สึกของผู้ที่ต้องอดข้าวอดน้ำว่าเป็นอย่างไร จึงมาพูดคุยและหารือร่วมกันว่า จะส่งข้าวปลาอาหารที่พอประทังชีวิตไปช่วย โดยตกลงกันว่า หากกลุ่มใดออกไปจับปลาช่วงนี้ ก็ให้นำมารวมกัน อีกส่วนเป็นการรวบรวมจากร้านคนจับปลา รวมถึงผู้ที่ทำการเกษตรประเภทอื่น ๆ ก็มีการรวบรวมผลผลิต เช่น ผัก ผลไม้ เพื่อนำไปช่วยเหลือเช่นกัน
FB : Wichoksak Ronnarongpairee
นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ยังระบุอีกว่า เมื่อคืนนี้ (17 ก.ย.) เพิ่งจัดส่งปลาสดชุดแรกรวม 1,200 กิโลกรัม จากจุดที่อยู่ใกล้ที่สุดคือ เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ออกเดินทางตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืน ซึ่งคาดว่า น่าจะถึงช่วงเที่ยงวันนี้ โดยนัดหมายรับของที่ สถานีรถไฟอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ และวันนี้ ก็จะทยอยส่งเพิ่มจากอีก 3 จุด คือ สงขลา นครศรีธรรมราช และสตูล โดยเน้นอาหารแปรรูป อาหารแห้ง ซึ่งจากการประสานกับเครือข่ายที่ทำงานช่วยเหลืออยู่ในพื้นที่พบว่า มีประมาณ 1,000 ครอบครัวที่ช่วยเหลืออยู่ โดยหลังจากนี้ ก็ยังจะติดตามและประเมินสถานการณ์ เพื่อส่งความช่วยเหลือไปอีก
ดูสถานการณ์ไปก่อน ก็จะทยอยส่งไปตามศักยภาพ อย่างน้อยพอได้บรรเทาความทุกข์เพื่อนได้บ้าง ก็ให้กำลังใจผู้ประสบภัย ต้องสู้กันต่อไป พลิกฟื้นชีวิตขึ้นมาให้ได้
ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ที่ผ่านมา เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำโดย นายปิยะ เทศแย้ม ประธานเครือข่ายฯ ได้เดินทางถึง จ.อุบลราชธานี แล้ว โดยมีตัวแทนเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) และ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) จ.อุบลราชธานี มารอต้อนรับ เพื่อนำไปกระจายให้กับจุดต่าง ๆ ที่มีเครือข่ายฯ ผู้ประสบภัยน้ำท่วมอาศัยอยู่
เปิดอู่ต่อเรือ "เรือสู้ภัยพิบัติ"
ขณะที่ ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายของการระบายน้ำลงแม่น้ำมูล มีประชาชนรวม 4 หมู่บ้านได้รับผลกระทบ ไฟฟ้าถูกตัดขาด และไม่สามารถประกอบอาหารรับประทานเองได้ จึงต้องรอเพียงความช่วยเหลือ ทำให้เครือข่ายภาคประชาชน ในนาม ศูนย์ภัยพิบัติชุมชนเพื่อฟื้นฟูผู้ประสบภัย อ.วารินชำราบ และ คปสม. เปิดรับบริจาคเงินเพื่อระดมทุนต่อ "เรือสู้ภัยพิบัติ" ซึ่งเป็นเรือที่มีเครื่องยนต์สามารถแล่นในน้ำเชี่ยวได้ และพายในน้ำตื้นได้ ขนาดบรรทุกราว 30 คน ซึ่งตั้งเป้าว่าจะสามารถต่อเรือจากเงินบริจาคได้มากกว่า 10 ลำ เพียงพอสำหรับ 6 ชุมชน
ตัวแทนศูนย์ภัยพิบัติชุมชนฯ ระบุว่า สามารถระดมเงินบริจาคสร้างเรือได้ 3 ลำแล้ว ศูนย์ภัยพิบัติชุมชนฯ จึงเริ่มซื้อวัสดุและระดมช่างต่อเรืออาสาทันที โดยเรือเหล่านี้จะใช้งานเพื่อรับส่งประชาชนที่บ้านเรือนน้ำเริ่มแห้ง ให้ได้จัดการทยอยฟื้นฟูที่อยู่อาศัยกันก่อน โดยเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมเปิดอู่ต่อเรือ "เรือสู้ภัยพิบัติ : สร้างเรือ เพื่อสร้างคน สร้างชุมชนรับมือภัยพิบัติ" อู่ต่อเรือดังกล่าว ตั้งอยู่บริเวณ อบต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มรภ.อุบลฯ ปักหมุดขอความช่วยเหลือผ่าน "SaveUbon Web App"
"บิณฑ์" ควัก 1 ล้านช่วยน้ำท่วมอุบลฯ
เครือข่ายเกษตรฯเมืองอุบล เตรียมทำ "ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์" หลังพื้นที่เกษตรฯถูกน้ำท่วม
อาสาสมัคร แจกสิ่งของช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมอุบลฯ