ผู้ที่ชื่นชอบดื่มชาด้วยการใช้ถุงชาหรือซองชาที่ห่อใบชาเพื่อนำไปแกว่งในน้ำร้อน อาจเริ่มกังวลหลังสื่อสังคมออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับผลงานวิจัยต่างประเทศ ที่ระบุว่า ถุงชาปล่อยไมโครพลาสติกออกมาในน้ำชานับพันล้านชิ้น
ล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยระบุว่า
อย่าเพิ่งแตกตื่นครับ งานวิจัยเขาเจอไมโครพลาสติกในถุงชาพลาสติก ไม่ใช่ถุงชากระดาษ
มีผู้นิยมดื่มน้ำชาส่งข้อความมาถามหลังไมค์เยอะมากว่า ที่มีข่าว มีงานวิจัยพบว่า เจอ "ไมโครพลาสติก" ออกมาจากถุงชาเป็นล้านๆ ชิ้น นั้นจริงหรือไม่และอันตรายแค่ไหน คำตอบคือ มีงานวิจัยเรื่องนั้นจริง แต่ใช้ถุงชาที่ทำจากพลาสติกมาทดลอง ไม่ใช่ถุงชากระดาษ และองค์การอนามัยโลกก็บอกว่า ยังไม่มีหลักฐานแต่อย่างใดว่า การกินไมโครพลาสติกเข้าไปจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย
ประเด็นเรื่องไมโครพลาสติก หรือพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรลงไป กำลังเป็นที่สนใจมากขึ้นในกลุ่มของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เนื่องจากปัจจุบันเราตรวจพบไมโครพลาสติกอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ไม่เว้นแม้แต่ในน้ำดื่มบรรจุขวด โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ไมโครพลาสติกที่พบในน้ำดื่มบรรจุขวดนั้น ยังไม่มีอะไรชี้บ่งว่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพขึ้น แต่ก็ระบุด้วยว่า ยังจะต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก
ภาพ : อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์
โดย สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย McGill University ในประเทศแคนาดา ได้ลองศึกษาไมโครพลาสติกอาจจะออกมาจากถุงพลาสติกที่ใช้ชงน้ำชา 4 ยี่ห้อที่มีขายตามท้องตลาด โดยถุงชายี่ห้อส่วนใหญ่นั้นทำมาจากกระดาษ โดยอาจจะมีพลาสติกปนอยู่เล็กน้อย บริเวณที่ใช้ซีลปิดปากถุง แต่ชายี่ห้อดังหลายยี่ห้อ หันมาใช้ถุงชาที่ทำจากพลาสติกแทน ให้มันคงเป็นรูปพีระมิด โดยอ้างว่าจะทำให้น้ำร้อนเข้าไปละลายน้ำชาออกมาได้ดีขึ้น
นักวิจัยได้เอาใบชาออกจากถุง แล้วเอาถุงไปแช่น้ำร้อนจัดอุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส คล้ายที่ใช้ชงน้ำชา พบว่ามีปริมาณของไมโครพลาสติกออกมาถึง 11.6 พันล้านชิ้น ซึ่งมีปริมาณมหาศาลกว่าที่เคยตรวจพบในอาหารใดๆ
ทั้งนี้ รศ.ดร.เจษฎา ระบุว่า คำสรุปจากเรื่องนี้ก็คือ ถ้ากังวลว่าจะดื่มน้ำชาที่มีไมโครพลาสติกเยอะๆ เข้าไป ก็ให้หลีกเลี่ยงชายี่ห้อที่ใช้ "ถุงชาทำจากพลาสติก" และไปใช้ชนิดที่ทำจากกระดาษแทน