วันนี้ (1 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า เทศกาลกินเจปี 2562 ยังคงดึงดูดให้คนกรุงเทพฯ สนใจเข้าร่วมกินเจเพิ่มจาก 57.1% มาเป็น 66.7% ในปีนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่สนใจเข้ามาทานเจเพื่อเหตุผลด้านสุขภาพ ขณะที่จำนวนมื้อที่ทานเฉลี่ยต่อคนมีแนวโน้มปรับลดลง คาดว่าเม็ดเงินค่าใช้จ่ายตลอดช่วงเทศกาลกินเจปี 2562 ของคนกรุงเทพฯ จะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 4,760 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้คนทานเจบางกลุ่มมีความตั้งใจที่จะควบคุมค่าใช้จ่าย ส่งผลให้มูลค่าการใช้จ่ายช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
คนรุ่นใหม่หันมากินเจ เพื่อสุขภาพ-การเสริมบุญ
ในระยะข้างหน้า ตลาดอาหารเจถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการสินค้าที่เกี่ยวข้อง ที่ได้อานิสงส์จากพฤติกรรมผู้บริโภคบางกลุ่มที่นิยมบริโภคอาหารเจนอกเทศกาล ทั้งเพื่อสุขภาพและการเสริมบุญ ขณะเดียวกัน จากสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ กลายมาเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญต่อตลาดอาหาร ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญในการผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้
อาหาร "มัน-เลี่ยน" หนึ่งในเหตุผลคนไม่นิยมทานเจ
โดยนอกจากความหลากหลายแล้ว ยังต้องเน้นประโยชน์ทางด้านสุขภาพ และความครบถ้วนของสารอาหารตามหลักโภชนาการ โดยการคัดเลือกวัตถุดิบที่มีประโยชน์ อาทิ ผัก/ผลไม้ออร์แกนิก ข้าวที่มีโภชนาการสูงเช่นข้าวหอมนิล/ไรซ์เบอรี่ และโปรตีนจากพืชเกษตร รวมถึงการลดความหวาน (น้ำตาลน้อย) มัน หรือเค็ม (อาหารที่มัน เลี่ยน เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนไม่นิยมทานเจ มีสัดส่วนถึง 55.6%) แต่เพิ่มทางด้านเส้นใยอาหารที่ช่วยด้านการขับถ่าย การคำนวณปริมาณแคลอรี่ของอาหารในแต่ละมื้อ
ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าว สามารถนำมาใช้กับการจำหน่ายอาหารเจ รวมถึงการผลิตอาหารทั่วไปด้วย เพื่อสร้างความแตกต่างและตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้อย่างถูกต้อง