ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กกร.หั่นจีดีพี เหลือ 2.7%

เศรษฐกิจ
2 ต.ค. 62
17:43
458
Logo Thai PBS
กกร.หั่นจีดีพี เหลือ 2.7%
เอกชน ประสานเสียง พร้อมสนับสนุนรัฐบาล ทำ “ชิมช้อปใช้” เฟส 2 หลังกระแสตอบรับดี เพราะมาตรการรัฐ มีส่วนสำคัญอย่างมาก ต่อการกระตุ้นพฤติกรรมใช้จ่ายในช่วงเศรษฐกิจซบเซา ก่อนปรับลดประมาณการณ์จีดีพี ทั้งปี มีโอกาสขยายตัวเพียงร้อยละ 2.7

วันนี้ (2 ต.ค.2562) นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน กล่าวว่า กกร. ได้ปรับลดประมาณการณ์ขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ จากเดิมร้อยละ 2.9 - 3.3 เหลือร้อยละ 2.7 - 3.0 หลังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้า ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งส่งผลให้ยอดการส่งออกอาจติดลบ ร้อยละ 1

 

อีกทั้ง ปัญหาน้ำท่วมในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือสร้างความเสียหายไม่น้อยกว่า 20,000 - 25,000 ล้านบาท ขณะที่ มาตรการชิมช้อปใช้ อาจพยุงเศรษฐกิจได้เพียงร้อยละ 0.1 - 0.2 จึงเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทั้งการงดเว้นภาษีโรงเรือน ภาษีป้าย 1 ปี  ลดดอกเบี้ยและสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง (Soft loan) ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 1 นาน 2 ปี

ส่วนแนวคิดการขยายผลมาตรการ ชิมช้อปใช้ ระยะที่ 2 นั้น  ประธาน กกร.กล่าวว่า ถือเป็นโครงการที่ดีแต่ไม่ควรทำต่อเนื่องนานเกินไป เพื่อกระตุ้นพฤติกรรม และควรมีผลการศึกษาเฟสแรกรองรับ ก่อนทบทวนมาตรการ เพราะโดยปกติแล้ว ในช่วงปลายปี เอกชน จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างเต็มที่อยู่แล้ว

เช่นเดียวกับนายปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า กกร.พร้อมสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ หากมีชิมช้อปใช้ในเฟส 2 เพราะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการกระตุ้นพฤติกรรมการใช้จ่าย ในภาวะเศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้ แต่การออกมาตรการใด ๆ ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมช่วงเวลาและให้สิทธิได้เท่าเทียมกัน โดยไม่ควรจำกัด หรือเงื่อนไขซับซ้อนเกินไป

ขณะที่ นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เอกชนพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ระยะยาว แต่ตั้งข้อสังเกตว่า โรงงานอุตสาหกรรมมักถูกมองเป็นผู้ร้ายก่อมลพิษ

ทั้งที่ โรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 99 ถูกควบคุมให้ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลดมลพิษทุกประเภท จากหลายหน่วยงานและมีโรงงานที่ยังมีปัญหาเพียง ร้อยละ 4 - 5 ของโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากการควบคุมมลพิษ จากรถยนต์ เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร น่าจะมีจำนวนรถไม่น้อยกว่า 10 ล้านคัน แต่ไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพดูแลปัญหาการปล่อยควันดำอย่างจริงจัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง