วันนี้ (3 ต.ค.2562) พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายป่าชุมชน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ครั้งที่ 1/2562 มีมติเห็นชอบออกแผนกฎหมายอนุบัญญัติ ประกอบด้วย กฎกระทรวง 2 ฉบับ ระเบียบคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน 17 ฉบับ และประกาศคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน 1 ฉบับ เช่น กฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กฎกระทรวงกำหนดไม้ทรงคุณค่า ระเบียบคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนว่าด้วยหลักเกณฑ์กำหนดการปกครองดูแลบำรุงรักษาใช้ประโยชน์จากไม้ และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชน ระเบียบคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนว่าด้วยการตรวจสอบติดตาม และประเมินผลการจัดการป่าชุมชนในจังหวัด
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการกำหนดหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นของร่างกฎกระทรวง ตามที่ฝ่ายเลขาการประชุมเสนอมา โดยได้รับทราบรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับป่าชุมชนที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีที่อยู่ที่กินในป่าให้ได้ และประชาชนสามารถทำมาหากินในป่าได้โดยพระราชบัญญัติป่าชุมชนกำหนดให้ทำอาชีพต่างๆในป่าชุมชนได้
ดัน 5 ปี จัดตั้งป่าชุมชนให้ได้ 15,000 แห่ง
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ถือการขับเคลื่อนและเน้นย้ำแผนการออกกฎหมายอนุบัญญัติ เพื่อเร่งขับเคลื่อนดำเนินการใช้พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 ในการส่งเสริมสิทธิชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการป่าที่อยู่ใกล้ชุมชน
เบื้องต้นตั้งเป้า 5 ปี จัดตั้งป่าชุมชนให้ได้ 15,000 ป่าชุมชนจะมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม 18,000 หมู่บ้าน และมีพื้นที่ป่าที่อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการป่าชุมชนเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านไร่ ภายใต้การดำเนินการตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 29 พ.ค.
ขณะที่นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ต้องการให้คณะกรรมการรับทราบความสำคัญของข้อกฎหมายตั้งหมวด 1– 8 รวม 104 มาตรา และอำนาจหน้าที่การทำงานทั้งหมด เพื่อวางระบบที่สมบูรณ์ ให้กับประชาชนที่ต้องการจัดตั้งป่าชุมชนให้เกิดขึ้นได้ หากประชาชนได้รับรู้และแสดงความคิดตลอดการดำเนินงานของภาครัฐจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ลงได้
ร่างกฎกระทรวง ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ก่อน เพราะเกี่ยวข้องกับขอบเขตพื้นที่อนุรักษ์ว่าบริเวณไหนจัดสรรได้ หรือบริเวณไหนเข้าใช้ประโยชน์ไม่ได้
รวมทั้งขอบเขตของไม้ทรงคุณค่าที่เป็นไม้หวงห้ามตามกฎหมายชนิดไหนตัดได้ หรือตัดไม่ได้ รวมทั้งขอบเขตการเก็บหาของป่า และแต่ละชุมชนต้องมีกติกาเป็นของตนเอง ทั้งนี้ภาพรวมประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการจัดตั้งป่าชุมชนในหลายๆด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ เกิดการเรียนรู้จัดการทรัพยากรป่าไม้ในท้องถิ่น ด้านสังคม เกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน ด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้พื้นที่ป่าชุมชนได้รับการดูแลรักษา ช่วยลดการคุกคามพื้นที่ป่า และช่วยฟื้นฟูสภาพป่าให้ดีขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กติกาใหม่! ห้ามปลูกพืชเชิงเดี่ยวในที่ดินทำกิน คทช.
ครั้งแรก ! คทช.ไฟเขียวจัดคนอยู่ในป่าอนุรักษ์ 5.9 ล้านไร่