ทุกๆ ปี เมื่อฤดูร้อนใกล้สิ้นสุดลง ซีกโลกตอนเหนือย่างเข้าสู่ฤดูหนาว กลางวันสั้น กลางคืนนาน อากาศเริ่มเย็น อาหารเริ่มหายาก ส่งผลให้นกนานาชนิดเริ่มอพยพ โดยในทวีปเอเชีย นกเหยี่ยวจำนวนมากจากรัสเซียตะวันออก จีน เกาหลี ญี่ปุ่น จะเริ่มอพยพลงใต้ ผ่านประเทศไทยปีละครั้ง
ภาพ : มูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ
บริเวณเขาดินสอ ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร นับเป็นเส้นทางอพยพหลักของนกนานาชนิด โดยเฉพาะนกล่าเหยื่อ เช่น เหยี่ยว ซึ่งมักจะอพยพโดยยึดแผ่นดินเป็นหลัก โดยเขาดินสอ ตั้งอยู่บนแหลมมลายูในส่วนที่แผ่นดินบีบแคบลงมา ทำให้เหยี่ยวอพยพต้องเข้ามารวมกัน เพื่อผ่านช่องแคบนี้ไปให้ได้ แต่เมื่อเหยี่ยวผ่านเขาดินสอไปแล้ว เป้าหมายของนกล่าเหยื่อเหล่านี้คือที่ใด
นายแอนดรูว์ เจ เพียร์ซ ผู้เชี่ยวชาญ สังกัดห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโน โลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ระบุว่า ทีมวิจัยได้ทำการจับเหยี่ยวนกเขาที่อพยพผ่านบริเวณเขาดินสอ ในปี 2559-2560 ระหว่างเดือน ก.ย.-ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีเหยี่ยวอพยพ ผ่านเขาดินสอมากที่สุดของปี โดยการใช้ตาข่ายแบบพรางตา เพื่อทำการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีน้ำหนักไม่เกินร้อยละ 4 ของน้ำหนักตัวของเหยี่ยว
ภาพ : DESMOND ALLEN
เบื้องต้น ได้ทดลองติดเครื่องส่งสัญญาณที่ตัวเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน 4 ตัว และเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น 4 ตัว ในลักษณะสะพายหลัง ทุกขั้นตอนดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับเหยี่ยว
สำหรับวิธีการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณ ผู้เชี่ยวชาญจะคัดเลือกเหยี่ยวตัวเมีย ที่มีน้ำหนัก 140 กรัมขึ้นไป และต้องเป็นเหยี่ยวที่โตเต็มวัยนำมาวัดสัดส่วน ใส่ห่วงที่ขา และนำเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดกับสายสะพายแบบพิเศษที่ผสมเส้นใยเชฟรอนเพื่อทำให้สายแข็งแรง ดึงธรรมดาไม่ขาด ต้องใช้วัสดุพิเศษตัด
ขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ซึ่งระหว่างการติดตั้งเครื่องจะต้องหาวัสดุมาคุมหัวนกไว้ เพื่อไม่ให้นกตื่นกลัวหรือตกใจ และให้นกอยู่นิ่งเพื่อให้สามารถทำงานได้
ภาพ : DESMOND ALLEN
ขณะที่สวมสายสะพายให้นกต้องปรับสายสะพายให้พอดีกับลำตัวนก เพื่อไม่ให้นกรู้สึกไม่สบายตัวหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต เหมือนนักท่องเที่ยวแบ็กแพ็คให้เครื่องส่งสัญญาณติดตัวไปเหมือนกระเป๋าเดินทาง โดยเครื่องส่งสัญญาณนี้สามารถส่งสัญญาณได้นาน 10 ชั่วโมง แล้วต้องใช้พลังงานแสงอาทิตย์ชาร์จ 48 ชั่วโมง เพื่อกลับมาทำงานอีกครั้ง
ครั้งแรก! วิจัยพบเส้นทางอพยพเหยี่ยวนกเขาจีน-ญี่ปุ่น
หลังจากการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมให้กับเหยี่ยวนกเขาทั้ง 8 ตัว ทำให้ทีมวิจัยรู้ว่า เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน จะอพยพลงใต้ไปยังบริเวณเกาะสุมาตรา ฝั่งตะวันออกของเกาะ Nusa Tenggara และ ประเทศติมอร์-เลสเต ซึ่งจะใช้เป็นพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาว (wintering grounds) โดยจะใช้เวลาบริเวณนี้ประมาณ 70-80 วัน เมื่อถึงช่วงเดือน ก.พ.–พ.ค. เหยี่ยวจะอพยพกลับไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ทางตอนใต้ของจีน
ภาพ : สวทช. - มจธ.
นอกจากนี้ข้อมูลจากเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน 4 ตัวที่ทีมวิจัยติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณฯ มีเพียง 2 ตัวเท่านั้นที่สามารถจับสัญญาณการอพยพผ่านเขาดินสอได้อีกครั้งในปี 2561 ทำให้รู้เส้นทางการอพยพที่สม บูรณ์ของเหยี่ยวชนิดนี้
ข้อมูลพบว่าเหยี่ยวใช้ระยะทางในการอพยพทั้งสิ้น 14,532 กิโลเมตร มากกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของโลก และ 9,710 กิโลเมตร
ในส่วนของเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นนั้น ทีมวิจัยสามารถติดตามสัญญาณไปถึงพื้นที่ของเกาะสุมาตรา และบอร์เนียว ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาวและใช้เวลาบริเวณนี้ประมาณ 130-170 วัน ก่อนที่จะอพยพกลับขึ้นทางเหนือ แต่ทีมวิจัยสามารถรับสัญญาณจากเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นได้เพียง 1 ตัวในช่วงอพยพกลับเท่านั้น
โดยเหยี่ยวตัวนี้เดินทางออกจากพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาวบนเกาะ Bangka ประเทศอินโดนีเซีย ไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ในเขตอามูร์ (Amur) ทางตะวันออกของประเทศรัสเซีย ก่อนที่สัญญาณจะขาดหายไป
ภาพ : DESMOND ALLEN
ทั้งนี้ ทำให้สรุปรวมระยะทางอพยพได้ทั้งสิ้น 7,699 กม. ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 50 วัน นอกจากนี้ แล้วทำให้ทราบอีกว่าพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาวหรือจุดหยุดพักที่สำคัญของเหยี่ยวทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นพื้นที่ที่มีมนุษย์เข้ามาใช้ประโยชน์ และเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าดั้งเดิมให้กลายเป็นพื้นที่ทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพาราและพืชสกุลอะเคเซีย (Acacia)
ภาพ : สวทช. - มจธ.
เล็งเก็บข้อมูล - ร่วมมือต่างชาติ อนุรักษ์เหยี่ยวนกเขาตลอดเส้นทางอพยพ
นับเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาเส้นทางอพยพของเหยี่ยวนกเขาทั้ง 2 ชนิดโดยใช้เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม และประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการจัดการและการอนุรักษ์ เพื่อป้องกันการถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของถิ่นที่อยู่อาศัยตลอดเส้นทางอพยพจากรัสเซียผ่านไทย ลงไปถึงอินโดนีเซีย
ทำให้ผู้คนตระหนักและสนใจถึงความสำคัญของเหยี่ยวรวมถึงภัยคุกคามที่เกิดกับเหยี่ยว อีกทั้งยังส่งเสริมให้พื้นที่เขาดินสอ ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร ให้เป็นจุดศึกษาวิจัย และจุดชมเหยี่ยวอพยพที่สำคัญ อันดับ 1 ใน 5 ของโลก
ภาพ : DESMOND ALLEN
นอกจากนี้ น.ส.รงรอง อ่างแก้ว ผู้ช่วยนักวิจัย สังกัดห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มจธ. ยังกล่าวเสริมว่า การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเบื้องต้น เพื่อเก็บข้อมูลเส้นทางของเหยี่ยวนกเขาอพยพ ซึ่งหากมีการเก็บข้อมูลเช่นนี้ต่อเนื่อง ก็จะสามารถนำมาเปรียบเทียบเส้นทางและได้พบชุดข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มมากขึ้น
หากเส้นทางในแต่ละปีมีความชัดเจน แล้วเกิดมีเหยี่ยวนกเขาหายไปจากจุดใดจุดหนึ่งซ้ำๆ ก็อาจทำให้นักอนุรักษ์ หรือเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบ เพราะอาจเกิดการล่าเกิดขึ้นที่บริเวณดังกล่าวก็ได้
ขณะนี้ ทีมวิจัยได้มีการติดต่อกับทีมวิจัยต่างประเทศ เพื่อร่วมกันแบ่งปันข้อมูลและศึกษาวิจัยและต่อยอดในการอนุรักษ์แหล่งหากินและแหล่งทำรังวางไข่ตลอดเส้นทางการอพยพของเหยี่ยวนกเขาทั้ง 2 ชนิด
ใช้เทคโนโลยีหนุนฐานความรู้ สู่การท่องเที่ยวยั่งยืน
ด้าน น.ส.วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุว่า สวทช.ได้ลงนามเพื่อร่วมขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยใช้วิทยาศาสตร์ พร้อมร่วมกับหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชน โดยกำหนด 7 พื้นที่ ใน 5 จังหวัด โดยจ.ชุมพร เป็นหนึ่งในเป้าหมายในการขับเคลื่อน
สิ่งที่คนในชุมชนชุมพรให้ความสำคัญ คือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยชุมพร มีต้นทุนทางธรรมชาติอยู่แล้ว และเมื่อมีงานวิจัยสนับสนุนการท่องเที่ยว ผ่านโครงการวิจัยโดยใช้ดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นบริบทอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการท่องเที่ยว
ภาพ : สวทช.
การท่องเที่ยวบนฐานความรู้ จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวการยั่งยืน
ทั้งนี้ สวทช. โดยฝ่ายบริการวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ เล็งเห็นความสำคัญในการทำวิจัยเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการติดตามเส้นทางเหยี่ยวอพยพ เนื่องจากเหยี่ยวเป็นสัตว์ที่อพยพ เป็นระยะทางไกลผ่านหลายประเทศในทวีปเอเชีย
โดยเริ่มต้นจากรัสเซีย ผ่านไทยจนถึงจุดแวะพักในฤดูหนาวที่ประเทศอินโดนีเซีย ดังนั้นทีมวิจัยจึงได้นำเทคโนโลยีเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ เพื่อทำการติดตามการอพยพและระบุตำแหน่งของเหยี่ยวนกเขา 2 ชนิด
ภาพ : DESMOND ALLEN
สำหรับเทคโนโลยีนี้มีความแม่นยำในระยะ 0.5-1.5 กิโลเมตรและสามารถติดตามเส้นทางการอพยพและตำแหน่งของเหยี่ยวได้ โดยการดาวน์โหลดหรือตรวจสอบข้อมูลออนไลน์ได้จากเว็บไซต์ http://www.argos-system.org/ หรือผ่านแอปพลิเคชัน CLS view บนมือถือ ซึ่งถือว่ามีความสะดวกและรวดเร็ว นับเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งในด้านการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวได้