กรณีเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา เกิดพายุงวงที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในซอยมังกร-นาคดี แพรกษา อ.เมืองสมุทรปราการ ความรุนแรงของพายุได้พัดพาเม็ดทราย ฝุ่นละออง สิ่งของ ป้ายโฆษณา รวมทั้ง กรงนก ไปตกกระจายทั่วบริเวณ ส่งผลให้ฝ้าเพดานของห้องที่อยู่ระหว่างตกแต่ง เพื่อเปิดเป็นร้านค้าในปั๊มน้ำมันได้รับความเสียหาย
ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. และประธานชมรมคนรักมวลเมฆ อธิบายเรื่องนี้ว่าผ่านทางเฟซบุ๊กว่า พายุงวงที่สมุทรปราการ เรียกว่า gustnado (กัสต์เนโด) เหตุผลดังนี้ พายุหมุนรูปงวงที่เกิดขึ้น น่าจะเป็น gustnado (กัสต์เนโด) เนื่องจาก
- มีฝนตกหลังจากนั้น
- ลมแรงมากจนทำให้เกิดความเสียหายในระดับย่อมๆ
- ระยะเวลาการเกิดไม่นาน คือไม่ถึง 20 นาที
ประเด็นต่อมาไม่ใช่ dust devil หรือ ลมบ้าหมู ลมหัวกุดลมหัวด้วน เพราะ
- แดดไม่ร้อน
- ลมค่อนข้างแรงจนเกิดความเสียหาย
รวมทั้งไม่ใช่ landspout (แลนด์สเปาต์) เพราะ
- ไม่เป็นลำชัดเจน
- คงตัวอยู่ไม่นานมากนัก
และ ไม่ใช่ supercell tornado (ทอร์นาโดที่เกิดจากเมฆซูเปอร์เซลล์) เพราะ
- มีขนาดเล็ก
- ไม่เป็นลำชัดๆ
- คงตัวไม่นาน
ชี้ความแรงลมแรงได้ถึง 100 กม.ต่อชม.
ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ ดร.บัญชา ระบุว่า พายุที่เป็นงวงมีหลายแบบเท่าที่รู้จัก มี 8 แบบ แต่ที่คุ้นเคย 3 แบบ คือทอร์นาโด ซึ่งมีระดับความรุนแรงมาก และไม่เกิดในไทย ส่วนพายุงวงที่คนไทยเคยเห็นเกิดในทะเล เรียกว่านาคเล่นน้ำ ส่วนบนแผ่นดินเรียกลมบ้าหมู
กรณีพายุหมุนที่เกิดขึ้นในจ.สมุทรปราการ มั่นใจว่าเป็น กัสต์เนโด เพราะถ้าดูอีกคลิปตอนที่กัสต์เนโดมา หลังจากนั้นจะมีฝนตกลงมา และมีลักษณะการเกิดไม่นาน ไม่กี่นาทีที่หมุน ซึ่งมีความแรงของลมได้ถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงน้อยกว่าทอร์นาโด แต่ก็ถือว่ารุนแรง
ส่วนปัจจัยการเกิดต้องมีเมฆฝนฟ้าคะนอง ฟ้าร้องฟ้าผ่า และจะมีกระแสลม 2 แบบ แบบหนึ่งจะพุ่งออกไปจากใต้ฐานเมฆ แต่อีกแบบกระแสลมเย็นที่พุ่งออกจากเมฆปะทะพื้น แต่เมื่อออกไปแล้วบริเวณที่ลมไปถึงเรียกว่าแนวลมกระโชก และความเร็วเร็วลมไม่เท่ากัน แต่อากาศจะถูกปั่นในแนวดิ่งทำให้เป็นงวง ระยะเวลาเกิดไม่นาน แต่ก็สร้างความเสียหายได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง เกิดพายุหมุนใน จ.สมุทรปราการ บ้าน-รถยนต์เสียหาย