นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า การเก็บกู้ซากช้างป่าที่ตกผาน้ำตกเหวนรก ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา มีความยากลำบาก เนื่องจากบริเวณที่พบซากช้างเป็นพื้นที่เข้าถึงยากและมีกระแสน้ำเชี่ยวกรากจากฝนที่ตกต่อเนื่อง จึงต้องกางตาข่ายดักซาก บริเวณคลองต้นไทร เพื่อรอให้ซากช้างลอยมาตามกระแสน้ำ
ขั้นตอนจัดการซากช้าง
หากเจ้าหน้าที่สามารถลากซากช้างที่ติดตาข่ายขึ้นมาได้แล้ว จากนั้นจะทำการตัดซากช้างให้เป็นชิ้นส่วน โดยใช้ชุดตัดย่อยซากสัตว์ ซึ่งมีลวดสลิงเป็นอุปกรณ์หลัก โดยเจ้าหน้าที่จะดึงลวดสลิงให้ตึงในส่วนที่จะตัดย่อยซากสัตว์และใช้ในลักษณะเหมือนเลื่อยเพื่อแบ่งซากสัตว์ และสามารถตัดผ่านกระดูกได้ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการย่อยซากช้างก่อนนำไปฝังทำลายตามหลักวิชาการ
ทั้งนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือแพทย์สัตวบาล ใช้สำหรับดึงตัวอ่อนที่ตายในท้องเพื่อให้แม่โค แพะ แกะแบบท่อคู่ สามารถที่จะผสมใหม่ได้และไม่เปHนอันตรายต่อแม่ เรียกว่า Dissecting instrument
สำหรับแผนการจัดการซากช้างป่าจะใช้เวลา 8-10 วัน ขณะที่การเก็บกู้ซากช้างขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ สภาพพื้นที่ และเวลาการเก็บกู้ซาก เนื่องจากมีบางซากติดอยู่ในวังน้ำวน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการเก็บกู้ซากช้างป่าทั้งหมด ประมาณ 1 เดือน
ส่วนสาเหตุการตายของช้างฝูงนี้ เบื้องต้นคาดว่า ลูกช้างอาจมีความอยากรู้อยากเห็น ทำให้อยู่ห่างจากฝูงในบางครั้ง อาจเป็นเหตุให้ผลักจากฝูง ประกอบกับสภาพพื้นที่เป็นที่ลาดชันสูงและไม่คุ้นเคย จึงทำให้พลัดตก ช้างพี่เลี้ยงติดตามจึงผลักตกตามกันมา หรืออาจเป็นเพราะสาเหตุอื่น ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างพิจารณาหาสาเหตุการตายที่แท้จริง
มาตรการป้องกันช้างตกเหวนรกซ้ำ
ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวอีกว่า จากนี้จะเก็บสถิติข้อมูลและศึกษาพฤติกรรมของช้างป่าที่น้ำตกเหวนรกเพิ่มเติม การปรากฎตัวและร่อยรอยของช้างป่าบริเวณรอบพื้นที่น้ำตกเหวนรก ศึกษาประสิทธิภาพรั้วกั้นช้างที่ติดตั้งอยู่ในขณะนี้ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาออกแบบรั้วหรืออุปกรณ์กั้นช้างในพื้นที่เสี่ยงอันตรายต่อการผลัดตก
นอกจากนี้ยังจัดชุดเจ้าหน้าที่เคลื่อนที่เร็วออกลาดตระเวนดูแลช่วยเหลือช้างป่า และติดตั้งกล้องดักถ่ายอัตโนมัติในพื้นที่เสี่ยงต่อการประสบอุบัติเหตุ เมื่อช้างป่าเดินผ่านหน้ากล้องจะแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันไปยังเจ้าหน้าที่ทันที พร้อมปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินหากินของช้างป่าในพื้นที่เสี่ยงอันตรายของน้ำตกเหวนรก เช่น การสร้างแหล่งน้ำ สร้างโป่งเทียม สร้างแหล่งอาหารที่ช้างชอบในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อเลี่ยงไม่ให้ช้างเดินเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยงภัยของน้ำตกเหวนรก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สลด! เจอซากช้างเขาใหญ่ตกเหวนรกเพิ่ม 5 ตัว รวมตาย 11 ตัว
ช้างป่าพลัดตกน้ำตกเหวนรก ตาย 6 ตัว เร่งช่วยอีก 2 ตัว
ไทม์ไลน์ 6 ชีวิตช้างป่าเขาใหญ่พลัดน้ำตกเหวนรก
ปิดน้ำตกเหวนรกไม่มีกำหนด-ภารกิจกู้ซากช้าง 6 ตัว