ความเสี่ยงถูก AI แย่งงาน
งานวิจัยในโครงการบทบาทของการค้าและเทคโนโลยี ต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างตลาดแรงงานของไทย โดยนักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ ผศ.วรประภา นาควัชระ และนางสาวเนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู ได้ศึกษาถึงผลกระทบจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาทดแทนแรงงานคน พบว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับแรงงานไทยใน 20 ปีข้างหน้า อาจมีความเสี่ยงที่จะตกงานได้มากถึง 12 ล้านคน จากการใช้หุ่นยนต์และย้ายฐานการผลิต เว้นแต่อาจมีงานประเภทใหม่ๆอาจเกิดขึ้นในอนาคต หรือแรงงานสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้
กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือพนักงานระดับปฏิบัติการในโรงงาน มีหน้าที่ควบคุมเครื่องจักร ทำส่วนประกอบต่างๆ เสมียน หรือที่เรียกว่ากลุ่มที่มีทักษะต่ำ (Low Skill) อีกกลุ่มที่น่ากังวลคือกลุ่มการศึกษาระดับประถมศึกษา มีความเสี่ยงตกงานได้มากถึง 5 ล้านคน ซึ่งแรงงานที่มีอายุ 35 –44 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากยิ่งอายุมากขึ้นการเรียนรู้ทักษะใหม่ (Reskill) จะทำได้ยากขึ้น
ผลการวิจัยยังระบุว่า อาชีพพนักงานบริการตามร้านค้าต่างๆ พนักงานขาย หรือแม้กระทั่งเกษตรกร และชาวประมง ล้วนมีแนวโน้มที่จะตกงานมากขึ้น เป็นผลมาเพราะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลสินค้าต่างๆได้ง่ายขึ้น เกิดการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนภาคการเกษตรและประมงได้นำเอาเครื่องมือเครื่องจักรขนาดใหญ่มาใช้งานมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการมองว่า เครื่องมือเหล่านี้นอกจากจะช่วยทุ่นแรง ลดภาระค่าใช้จ่ายจากการจ้างงานแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดอันตรายกับคนงานในระหว่างการทำงานได้อีกด้วย
ดังนั้น 3 ทักษะที่ควรให้ความสำคัญคือ ทักษะในด้านความรู้ความเข้าใจในการจัดการ ทักษะด้านกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ และทักษะทางด้านสังคม เพราะทั้ง 3 ทักษะนี้ AI ยังไม่สามารถเข้ามาทำงานแทนคนได้
"มองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นแรงงานต้องเปิดใจให้กว้าง พัฒนาตัวเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆเสมอ ซึ่งแรงงานทุกคนควรจะมีแนวคิดเช่นนี้ไม่ใช่ว่ารอ จริงๆแล้วภาครัฐก็ช่วยในระดับหนึ่ง และนายจ้างก็พยายามช่วยด้วย แต่คุณต้องช่วยตัวคุณเองด้วย" ผศ.วรประภา กล่าว
แรงงานชิ้นส่วนยานยนต์เสี่ยงตกงาน 300,000 คน
อีกด้านหนึ่งแรงงานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ก็มีความเสี่ยงตกงานเช่นกัน เพราะการศึกษาเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า ที่มีต่อแรงงานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ของ รศ.กิริยา กุลกลการ นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า รถยนต์ไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนลดลงจาก 30,000 ชิ้น เหลือเพียง 1,500-3,000 ชิ้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ท่อไอเสีย หม้อน้ำ ถังน้ำมัน เป็นต้น
จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย มีจำนวนประมาณ 816 แห่ง จาก 2,500 แห่ง โดยบริษัทเหล่านี้จ้างแรงงานอยู่จำนวน 326,400 คน หรือ 47% ของแรงงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมยานยนต์ และยังมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่จะได้รับผลกระทบมีอีกจำนวน 183 แห่ง
สถานประกอบการขนาดใหญ่มักจะผลิตชิ้นส่วนในหลากหลายกลุ่มจึงสามารถปรับตัว และจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าสถานประกอบการเอสเอ็มอี ที่มักจะผลิตชิ้นส่วนเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 438-571 แห่ง
รศ.กิริยาเสนอให้กระทรวงแรงงานควรจัดตั้งศูนย์ฝึกทักษะใหม่ให้แก่แรงงาน เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้แรงงานกลุ่มต่างๆ ส่วนกลุ่มแรงงนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป และการศึกษาน้อย จึงมีข้อจำกัดในการพัฒนาทักษะหรือเรียนรู้ทักษะทำงานใหม่ๆ หรือเปลี่ยนอาชีพ ส่วนใหญ่จึงออกไปทำงานนอกระบบซึ่งขาดความมั่นคงและสวัสดิการ จึงควรได้รับความคุ้มครองจากรัฐให้สามารถยังชีพได้ เช่น ส่งเสริมการออม ส่งเสริมให้ทำประกันสังคมมาตรา 39 และจัดระบบการเลิกจ้างอย่างเป็นธรรม
แรงงานยุค 4.0 กับการพัฒนาทักษะ
นายธงชัย นพรัตน์ วัย 50 ปี อดีตช่างผสมสีรถยนต์ ของบริษัทผลิตรถยนต์แห่งหนึ่ง ตัดสินใจเข้าโครงการสมัครใจลาออก หรือเออรีรีไทร์ เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ( ส.ค. 2562) เพื่อมาทำการเกษตร ด้วยการเลี้ยงสัตว์และปลูกโกโก้ ที่บ้านเกิด อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท แม้อีกเพียง 5 ปีเขาจะเกษียณอายุก็ตาม แต่เพราะการต้องพัฒนาตัวเองและเรียนรู้งานอื่นๆตลอดเวลา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของบริษัท เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจในอาชีพที่รัก และทำมาตลอด 24 ปี ซึ่งเขายอมรับว่า อายุที่มากขึ้นอาจเป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
ธงชัย นพรัตน์ อดีตช่างผสมสีบริษัทผลิตรถยนต์
บริษัทให้พยามยามเรียนรู้ในหลายๆจุด สามารถทำงานทดแทนกันได้ จากปกติที่เราจะอยู่แค่จุดที่เราทำงาน ซึ่งก็มีส่วนให้เราเกิดความเครียด เพราะเราต้องไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเพิ่มขึ้น
เขายังมองว่าในอนาคต หุ่นยนต์จะเข้ามาทดแทนแรงงานคนมากขึ้น เพราะหุ่นยนต์มีศักยภาพสูงในการทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งยังไม่มีข้อเรียกร้องใดๆต่อนายจ้าง
ด้านนายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เสนอให้ภาครัฐฝึกอาชีพหรือทักษะใหม่ๆให้แก่แรงงานที่เข้าโครงการสมัครใจลาออก หรือ เออรี่รีไทร์ เพื่อให้พวกเขายังมีรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว
คนงานเขาอยู่โรงงานเป็นมนุษย์เงินเดือนตลอด บางคนที่ลาออกไปก็ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรแต่ลาออกไปก่อน ดังนั้นรัฐก็ต้องเข้ามาดูแล ไม่ว่าจะเป็นการฝึกวิชาชีพตอบโจทย์กับยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการทำงานออนไลน์ หรือฟรีแลนซ์ต่างๆ
ข้อมูลที่ผ่านมา ยังพบว่า บริษัทผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนหลายแห่ง มีการลดการจ้างงานหลายรูปแบบ เช่น โครงการสมัครใจลาออก การไม่รับพนักงานทดแทนคนที่เกษียณอายุไป การลดชั่วโมงทำงานล่วงเวลา การลดวันทำงาน การเลิกจ้างพนักงานซับคอนแทรค รวมทั้งยังมีการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ
ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยัง... ที่แรงงานไทยต้องปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุค 4.0
ภัทรา ชวนชม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน