วันนี้ (14 ต.ค.2562) เพจเฟซบุ๊ก คุยกับอธิบดีกรมป่าไม้ เผยแพร่เรื่องราวดีๆ กี่ยวกับการรณรงค์การส่งเสริมให้ปลูกป่า ภายใต้โครงการ "ต้นไม้ของลูก ปลูกป่าในใจคน" ของโรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.หนองบัวลำภู ที่มีการแจกต้นไม้เด็กแรกเกิดคนละต้น ให้เติบโตไปพร้อมกัน หวังสร้างความผูกพันระหว่างคนกับป่า
โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา พญ.ยุวพร จิระวงศ์ประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า โรงพยาบาลได้จัดทำโครงการ "ต้นไม้ของลูก ปลูกป่าในใจคน" มีที่มาจากความคิดที่ว่าสภาพสังคมในปัจจุบัน ทำให้วิถีชีวิตของคนอยู่ห่างไกลจากป่าโดยเฉพาะในเด็กรุ่นใหม่ๆ ทำอย่างไรจึงจะสามารถเพิ่มปริมาณป่าไม้ให้มากขึ้นได้ จึงนึกถึงพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่บอกว่าให้ปลูกป่าในใจคน
มอบต้นไม้ให้เด็กแรกเกิดทุกคนที่เกิดที่โรงพยาบาลนาวัง เพิ่มจำนวนต้นไม้ พื้นที่ป่า สร้างความผูกพัน สร้างความตระหนักรู้แก่คนกับต้นไม้ผ่านเด็กที่เจริญเติบโต
ภาพ:เฟซบุ๊กคุยกับอธิบดีกรมป่าไม้
ป่าเพิ่มกว่า 200 ต้นความสูงเกือบ 2 เมตร
ทั้งนี้โครงการนี้ได้ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี ในช่วงแรกได้ร่วมมือกับกลุ่มธนาคารต้นไม้ อ.นาวัง สนับสนุนต้นยางนาและต้นสัก ส่วนปี 2562 ได้รับการสนับสนุนต้นไม้จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยจะแจกกล้าไม้ยืนต้น อาทิ สัก ยางนา แดง ประดู่ ให้เด็กแรกเกิดคนละ 1 ต้น ป้ายชื่อ พร้อมรูปถ่ายของเด็กและครอบครัว จากนั้นเวลาเจ้าหน้าที่ลงเยี่ยมบ้าน เพื่อติดตามพัฒนาการเด็กก็จะไปเยี่ยมต้นไม้ด้วย เท่ากับได้ดูพัฒนาการเด็กไปพร้อมๆกับพัฒนาการของต้นไม้
พญ.ยุวพร กล่าวอีกว่า Key success คือต้องใส่ intervention ให้ถูกจังหวะ ช่วงแรกต้องใส่ไปที่ครอบครัวเพื่อให้ครอบ ครัวถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ไปยังเด็ก วันที่ไปเยี่ยมเด็กจะยังไม่สามารถรับรู้เรื่องเหล่านี้ได้ เราก็จะใส่ intervention ผ่านครอบครัวว่าต้นไม้นี้เป็นของเขา เราจะบอกว่าเขาเป็นสมบัติชิ้นแรกของกันและกัน มันจะรู้สึกดีมากเวลาไปเยี่ยมต้นไม้ พ่อแม่ก็จะอุ้มลูกถ่ายกับต้นไม้ที่เติบโตไปพร้อมๆกัน
ทำโครงการมาได้ 3 ปีมีเด็กที่คลอดที่โรงพยาบาล 296 คน มีครอบครัวที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 287 คนคิดเป็น 94% ปลูกแล้วต้นไม้รอดตาย 145 ต้นหรือ 54% หากปลูกแล้วต้นไม้ตายก็มาขอรับใหม่ได้ ปัจจุบันต้นไม้ที่ปลูกชุดแรกๆ สูงประมาณ 2 เมตร
พญ.ยุวพร กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลจะทำโครงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ และพยายามบอกเล่าเรื่องราวต่างๆเหล่านี้เพื่อขยายผลให้เกิดแรงบันดาลใจในพื้นที่อื่นๆต่อไป