วันนี้ (14 ต.ค.2562) ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ นายอุเทน หาแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ถึงกรณีการเกิดอุบัติเหตุจากพลุ ประทัด และดอกไม้เพลิงในช่วงเทศกาลออกพรรษา ประจำปี 2562 โดยระบุว่า ปีนี้มีผู้บาดเจ็บจากการจุดพลุ ประทัด และดอกไม้เพลิง รวม 43 คน ขณะที่จำนวนผู้บาดเจ็บปีที่แล้วอยู่ที่ 47 คน
ในจำนวนผู้บาดเจ็บ 43 คนมีผู้บาดเจ็บอายุมากที่สุด 61 ปี อายุน้อยที่สุด 1 ปี โดยพ่อเป็นคนจุดพลุแล้วตกใส่มือลูก ทำให้บาดเจ็บที่มือขวา และผู้บาดเจ็บที่มีอาการหนักที่สุดเป็นชายอายุ 26 ปี มือขาด เกิดจากการทำพลุเล่นเอง
ทั้งนี้ อำเภอเมือง มีผู้บาดเจ็บมากสุด 9 คน รองลงมาคือ อ.บ้านดุง 8 คน และ อ.น้ำโสม และ อ.บ้านฝือ อำเภอละ 5 คน
ส่วนชนิดของพลุหรือประทัดที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บมากที่สุดคือ 1.ลูกบอล 2.พลุ 3.สามเหลี่ยม 4.ดินปืนที่ทำเอง
นายอุเทน กล่าวว่า ตำแหน่งที่ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ นิ้ว มือ ใบหน้า และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ปีนี้มีเคสที่ยังต้องเฝ้าระวัง 2-3 คน เพราะเศษพลุและประทัดโดนกระจกตา ส่งผลให้ตาพร่ามัว ถ้ารุนแรงก็อาจจะทำให้ตาบอดได้ ซึ่งขณะนี้แพทย์ต้องติดตามอาการต่อไป
ผู้ใหญ่พาเด็กเล่น เด็กก็เลียนแบบและโดนลูกหลง มันอันตรายมากว่าจะสนุกสนาน
เมื่อถามถึงมาตรการป้องกันและการเข้มงวดกวดขันผู้ประกอบการที่ไม่ให้ขายประทัดที่มีความรุนแรงให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในพื้นที่
นายอุเทน กล่าวว่า ทุกปีทางจังหวัดจะเข้มงวดตรวจตราร้านค้าทั้งก่อนและหลังออกพรรษา ซึ่งก็ยังมีผู้ลักลอบขายอยู่ตลอด และเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้
มีการลักลอบขายเยอะมาก ควบคุมลำบาก ในชุมชน ในหมู่บ้าน ยังมีขายมากอยู่ โทษมันไม่มากเท่าไหร่ แค่ปรับ
นายอุเทน เห็นว่าปีหน้าจังหวัดอุดรธานีอาจจะต้องกำหนดมาตรการให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้นอีก รวมทั้งอาจจะต้องกำหนดโซนห้ามจุด เช่น วัด สวนสาธารณะ แต่บริเวณที่ประชาชนนิยมจุดมากที่สุดคือ หน้าบ้านตัวเอง ซึ่งถือเป็นจุดที่ควบคุมยากมาก