วันนี้ (15 ต.ค.2562) ศาสตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการอิสระ เปิดบรรยายพิเศษ "ประชาชน พรรคการเมือง ทหารไทย ติดกับดักวิกฤตใหม่ประเทศไทย" ที่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน
ศ.ธีรยุทธ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงระบบคิด ที่เรียกว่ากระบวนทัศน์ หรือ ความคิดใหญ่ แม่แบบความคิดในสังคมไทยที่เพิ่งก่อตัวขึ้นไม่นาน การบรรยายในวันนี้ จึงกระทำในฐานะนักวิชาการอิสระ ซึ่งเป็นหน้าที่ติงและเตือนสังคม ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น โดยย้ำว่า ไม่ถือว่าใครหรือกลุ่มไหนในสังคมไทยเป็นศัตรู มองทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และทหาร ด้วยสายตาที่เป็นกลาง วิพากษ์วิจารณ์ตามบทบาทที่ทุกฝ่ายกำลังเดินไป
เมืองไทย 3 ยุค ปัจจุบันคือ "ติดกับดักตัวเอง"
ศ.ธีรยุทธ ระบุว่า สังคมไทยไม่มีเป้าหมาย ติดกับดักตัวเอง ภาวะการไม่มีเป้าหมาย เห็นได้ชัดจากการปฏิรูปประเทศ ที่เกิดมานานกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2535 แต่สาเหตุที่ทำให้กระแสปฏิรูปตาย หรือเดินหน้าไม่ได้ คือ การปฏิวัติของทหาร
โดยสังคมไทยออกเป็น 3 ยุค คือ ยุคพัฒนา ตั้งแต่ปี 2505 - 2535 ที่มีเป้าหมายชัดเรื่องการพัฒนา ไฟสว่าง มีงานดี เป็นความสำเร็จในการปฏิรูปครั้งแรก มีการพัฒนาเศรษฐกิจและประชาธิปไตย ที่มีทั้งข้อสำเร็จและล้มเหลว ผลดีคือ สิทธิเสรีภาพกว้างขวาง พรรคการเมือง สื่อมวลชนเกิดขึ้นมากมาย แต่มีข้อเสีย คือ การคอร์รัปชัน โดยเฉพาะวิกฤตคุณธรรมในสังคม ที่หายไป
ยุคต่อมา ปี 2535 - 2557 ยุคปฏิรูป ซึ่งเป็นฉันทามติร่วมกัน มีพลังแสดงออกร่วมกัน มีการปฏิวัติประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญสีเขียว และการเคลื่อนไหวของมวลชนสองครั้งใหญ่ คือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ กปปส. แต่ก็ประสบความล้มเหลว หลังการรัฐประหารสองครั้ง
ทหาร ข้าราชการ มีอำนาจรวมกัน 7 ปีไม่มีความสามารถและไม่มีพลังจิตใจที่จะปฏิรูป จึงล้มเหลว ยุคนี้กำลังจบสิ้น หากมีใครเชิญปฏิรูปด้วยการเดินขบวนอีก คงไม่มีใครร่วม
ยุคปัจจุบันตั้งแต่ปี 2557 - 2562 คือ ยุคติดกับดัก เพราะไม่สามารถหาเป้าหมายที่เป็นทางออกของประเทศได้ หากจะมี ก็คือประชาธิปไตยกินได้ หรือ ประชานิยม ซึ่งคนชนบทชื่นชมมาก และถือเป็นปัจจัยที่ทำให้พรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อไทย มีฐานเสียงที่เหนียวแน่น แม้แต่การเลือกตั้งล่าสุด แต่ไม่ใช่วาทกรรมที่เป็นทางออก เพราะประชานิยมเป็นเพียงเครื่องมือการหาเสียง ที่หมายถึงการเมืองทั่วโลก เป็นเครื่องมือ แต่ไม่ใช่เป้าหมาย
พรรคอนาคตใหม่ มีฐานเสียงคือคนรุ่นใหม่และชนชั้นกลางที่ไม่พอใจระบบเก่า แต่ทั้งสองพรรคยังไม่มียุทธศาสตร์ แผนงานหลักเพื่อพาประเทศไปสู่เป้าหมาย ส่วนฝ่ายอนุรักษ์ หรือ ทหารที่มีอำนาจมา 5 ปีเศษ ก็ติดกับดักความคิด โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคง
ชี้กระบวนทัศน์ “ความเมือง” พร้อมทำสงคราม อันตราย
ศ.ธีรยุทธ เปรียบเทียบกระบวนทัศน์แบบ ความเมือง กับ การเมือง โดยนิยามการเมืองว่า คือ พื้นที่แบ่งปันผลประโยชน์ทางการเมืองให้กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ เชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่เป็นหนทางแก้ไข
แต่ "ความเมือง" เป็นทรรศนะใหม่ มองว่าพื้นฐานของสังคม คือ กลุ่มคน ที่อยู่ด้วยกันด้วยความหวาดระแวง อยู่แบบพวกเรากับศัตรู มองว่ากลุ่มตัวเองต้องอยู่รอด กลุ่มอื่นเป็นศัตรูที่ต้องทำลายล้าง เป็นหัวใหญ่ของความคิดแบบ the political มองความสัมพันธ์เชิงสงคราม ต่อสู้แบบไม่มีรูปแบบ ด้วยความเป็นกลุ่ม ที่ต้องมีผู้นำตัดสินใจสูงสุด
ซึ่งตรงข้ามกับ "การเมือง" แบบ the politic ที่เชื่อในกระบวนการธรรมดา เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว อภิปราย วิพากษ์วิจารณ์โดยใช้เหตุผล เพื่อให้ความคิดและประโยชน์ฝ่ายตนบรรลุผล และฝ่ายอื่นล้มเหลว แต่สุดท้ายก็นำไปสู่การล้มรัฐบาล หรือ ยุบสภาฯ ตามกระบวนการทางประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ที่เชื่อมั่นในตัวบุคคล ความเห็นต่าง แต่ถกเถียงกัน หาแง่มุมชนะกัน แต่กระบวนการอยู่ร่วมกันในสังคม จะช่วยให้บรรลุข้อตกลงได้
“ความเมือง” เป็นกระบวนทัศน์ปัจจุบัน คนไทยส่วนหนึ่งรับกระบวนทัศน์แบบนี้ ที่มองว่าการอยู่รอดแบบกลุ่มสำคัญที่สุด ไม่ใช่การอยู่แบบปัจเจกนิยม ไม่เชื่อเรื่องเสรีประชาธิปไตย เป็นวิธีคิดที่สะท้อนออกมาแบบ "ไฮบริด วอร์แฟร์" ดังที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก พยายามนำเสนอ โดยมองว่าคนอื่นเป็นศัตรูที่ต้องล้มล้าง ทั้งที่อยู่ในภาวะปกติ ไม่มีวิกฤตใด ๆ เพราะผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ถือเป็นความปกติแล้ว ใช้การเมืองธรรมดาได้
จากการเล่นการเมือง กำลังเป็นการเล่นความเมือง นักการเมืองกลายเป็นนักความเมือง พรรคการเมืองกลายเป็นพรรคความเมือง นักวิชาการกลายเป็นนักโฆษณาความเมือง ทหารฝ่ายความมั่นคงกลายเป็นทหารฝ่ายความเมือง คือ ใช้ทุกวิธีการที่จะขยายความ เกินเหตุเกินผล สร้างความ บิดความ ต่อเติมความ รวมทั้ง คดีความ
ศ.ธีรยุทธ ยกตัวอย่างกลุ่มของกระบวนทัศน์แบบความเมือง เพื่อทำลายคู่ต่อสู้ รวมถึง ข่าวปลอม ข่าวสารข้อมูล ในที่สุดจะกลายเป็นสงคราม ทำให้สงครามไร้รูปแบบ ขยายตัวน่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มจากความขัดแย้ง เหลือง - แดง, ชนชั้นล่างชนชั้นกลางในชนบท - ชนชั้นกลางชนชั้นสูงในเมือง, ภาคเหนือ - อีสาน - ใต้, เผด็จการ - ประชาธิปไตย รวมถึงการเลือกตั้งครั้งหลังสุด คือ คนรุ่นเก่า - คนรุ่นใหม่ และ ความคิดเก่า - ความคิดใหม่
มองใจกลางปัญหาผิด นำไปสู่ปัญหาใหม่ร้ายแรง
ศ.ธีรยุทธ ระบุว่า การใช้ค่านิยมของทหาร ในเรื่องสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มองเป็นปัญหาหลักของประเทศ ซึ่ง ศ.ธีรยุทธมองว่า เป็นปัญหาที่สำคัญยิ่ง แต่การให้ความสำคัญเร่งด่วน เป็นการผิดพลาดในแง่ยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ซึ่งควรหยิบยกปัญหาเร่งด่วน ทั้งปากท้องประชาชน และความเหลื่อมล้ำ ซึ่งกระทบกับประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมองว่าเป็นการจัดการวิกฤตผิดพลาด มองปัญหาใจกลางผิด อาจนำไปสู่ปัญหาใหม่ที่ร้ายแรง
ศ.ธีรยุทธ ระบุว่า การนิยามว่าการชุมนุมของมวลชนเป็นสงครามภายในประเทศ ได้นำมาสู่เหตุผลในการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดในการกำหนดท่าทีเชิงยุทธศาสตร์ แต่ไม่ได้ใช้เพื่อการปฏิรูป เมื่อรัฐบาล คสช.มองว่าแก้ปัญหายังไม่จบ จึงเป็นเหตุผลให้อยู่ในอำนาจต่อ
อยู่ยาวด้วยกระบวนการต่าง ๆ เช่น ล้มรัฐธรรมนูญฉบับศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ มีกลไก ส.ว. และยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งหากเราเอาภาวะสงครามไปยัดเยียดให้ในภาวะปกติ มีโอกาสที่สงครามจริง ๆ จะเกิดขึ้น
เสนอ สังคมตั้งสติ รัฐไม่มองประชาชนเป็นศัตรู
ศ.ธีรยุทธ ยังได้เสนอหนทางแก้ไข 2 ข้อ ที่ต้องช่วยกันให้ทุกฝ่ายคลี่คลาย ผ่อนความขึงตึงของสถานการณ์
- สังคมต้องตั้งสติอยู่ตรงกลาง มองสถานการณ์ให้กระจ่าง เสริมพลังบวกที่จะช่วยแก้ปัญหาของสังคม
- รัฐต้องวางตัวเป็นกลาง ทหารต้องไม่มองว่าประชาชนเป็นศัตรู ควรอยู่ในกรมกอง เพราะมีกลไกอื่นที่แก้ปัญหาได้ เช่น สภาผู้แทนราษฎร ศาล และระบบยุติธรรม โดยมองว่าความตื่นตัวต่อปัญหานั้นทำได้ แต่การประกาศตัวเป็นศัตรูกับประชาชนบางกลุ่ม เป็นเรื่องที่น่าตกใจ ไม่เป็นผลดีกับประเทศ อาจต้องถอยกลับ
สำหรับคำแนะนำถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่ต้องเร่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะคนชั้นกลางและคนจน รวมถึงใช้บารมีและวุฒิภาวะ มองข้ามสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ และชักชวนให้ภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ร่วมกันประคับประคองสถานการณ์
ต่อคำถามว่า หากสังคมไม่ช่วยกัน จะนำพาฉากทัศน์ทางการเมืองไปทิศทางไหน ศ.ธีรยุทธ ระบุว่า น่าเป็นห่วง เพราะความคิดและความขัดแย้งจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ เห็นชัดจากกรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เกิดจากวาทกรรมที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ผลักให้กลุ่มหนึ่งเป็นคนส่วนน้อย สร้างความเป็นอื่น ถอดความถูกต้อง ความเป็นปกติ
การสร้างความเป็นอื่น คือ ถอดความเป็นตัวตน ซึ่งถูกต้อง จำเป็น เช่น เป็นพลเมืองของประเทศไทย มีสิทธิ มีเสียง มีเสรีภาพในสังคม เป็นนักธุรกิจ เป็นนักวิชาการ ถูกถอดทิ้งไปเรื่อย ๆ ให้เหลือเฉพาะสิ่งที่มันเปลือยเปล่า รวมทั้งสร้างภาพว่าเป็นยักษ์เป็นมาร เป็นศัตรูที่ร้ายกาจ ที่มีแต่ความชั่วร้ายอยู่ เช่น คอมมิวนิสต์ เคยถูกสร้าง นำไปสู่วลีแบบ ฆ่าคนไม่บาป บิดเบือนความจริง ขยายความ นำไปสู่ความรุนแรง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ธีรยุทธ" เรียกร้องนายกฯ อย่าใช้อำนาจจนถูกครหาโกงเลือกตั้ง
"ธีรยุทธ"ประเมิน 2 ปี คสช.ปฏิรูปประเทศ