วันนี้ (19 ต.ค.2562) นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือ เมื่อเวลา 21.46 น.ของวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 4.1 ตามมาตราริกเตอร์ ความลึก 6 กิโลเมตร
กรมชลประทาน โดยส่วนวิศวกรรมธรณี สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา ได้เข้าตรวจสอบค่าความเร่งสูงสุดที่มีผลกระทบต่อเขื่อนแล้ว พบว่าค่าอัตราเร่งสูงสุดของพื้นดินที่เกิดขึ้นมีค่าเพียง 0.00542g หรือเมื่อเทียบค่าให้เป็นค่า seismic coefficient (K) แล้วมีค่าประมาณครึ่งหนึ่งของค่าความเร่งสูงสุดที่ตรวจวัดได้ (K=0.00271)
โดยค่า K ที่กรมชลประทานได้ออกแบบไว้ สามารถรองรับแผ่นดินไหวในพื้นที่ได้ประมาณ K=0.1 ค่าที่วัดได้ดังกล่าวจึงเป็นค่าที่ตรวจวัดได้น้อยมาก เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนแต่อย่างใด
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ออกแบบเขื่อนทุกแห่ง ให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวไว้ด้วยค่าที่สูงสุดของความเสี่ยงในพื้นที่ประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่ส่งผลกระทบต่อเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการตรวจสอบและติดตามข้อมูลทางสถิติของค่าความเร่งสูงสุดที่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำมาประเมินเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น รวมทั้งแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเขื่อน เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ท้ายเขื่อน มีความมั่นใจและเชื่อมั่นในความปลอดภัยแข็งแรงของเขื่อนตลอดเวลา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
แผ่นดินไหว 4.1 สะเทือนเชียงใหม่-เชียงราย
ชี้ "รอยเลื่อยแม่ทา" มีโอกาสไหวถึงระดับ 5 ในรอบ 10 ปี