วันนี้(28 ต.ค.2562) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำปี 2563 จะเกิดภัยแล้งยาวนาน โดยปริมาณน้ำในเขื่อน แม่น้ำ ลำคลองต่างๆ จะน้อยลง จำเป็นต้องดึงน้ำใต้ดิน เข้ามาช่วยเสริมด้านการอุปโภค-บริโภคน้ำเพื่อการ เกษตร และภาคอุตสาหกรรม ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องมีการบริหารจัดการน้ำบาดาลที่ทันสมัย และครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ มอบกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งสำรวจแหล่งน้ำบาดาลทั้ง 77 จังหวัด จัดทำแผนที่น้ำบาดาล เพื่อพิจารณาขุดเจาะแหล่งน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์ทั้งอุปโภคบริโภค และภาคการเกษตร ซึ่งจะเป็นการแก้ไขการขาดแคลนน้ำได้อย่างยั่งยืนมีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งส่งเสริมประชาชนธนาคารน้ำใต้ดิน แต่ต้องมีการสร้างในรูปแบบที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้น้ำที่ได้มีคุณสมบัติที่ได้มาตรฐานสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยไม่เกิดอันตราย
เบื้องต้นจะสำรวจและจัดทำแผนที่ศักยภาพน้ำบาดาล นำร่องปี 2563 ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันตก คือ กาญจนบุรี ชัยนาท และสุพรรณบุรี
ขุดเจาะน้ำใต้ดิน รับภัยแล้งปี 63
นายวราวุธ กล่าวว่า นอกจากนี้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำ จัดหาและติดตั้งระบบส่งกระจายน้ำในกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ด้วยการปรับปรุงแหล่งน้ำและพัฒนาระบบส่งน้ำ 120 แปลงใหญ่ใน 41 จัง หวัด รวมพื้นที่ 80,000 ไร่ ประสานความร่วมมือกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เน้นการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำและหาแหล่งน้ำใหม่ๆจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ควบคู่กับจัดหาน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทาน เฝ้าระวัง และเตือนภัยน้ำท่วมดินถล่ม
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะเร่งขุดเจาะแหล่งน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ ที่มีคุณภาพมารองรับความต้องการใช้น้ำที่มีมากขึ้นช่วงเกิดภัยแล้ง ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณน้ำบาดาลกักเก็บรวมประมาณ 1.13 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะมีปริมาณฝนตกลงมาเพิ่มเติมแล้วไหลลงใต้ดินอีก 72,987 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
ภาพรวมไทยจะมีน้ำบาดาลใช้ได้ 45,385 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ใช้ไปเพียง 14,741 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น แบ่งเป็น ใช้น้ำบาดาลเพื่อเกษตรกรรมมากที่สุด 12,741 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค และภาคอุตสาหกรรม 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยคงเหลือปริมาณน้ำใช้ได้อีกรวม 30,645 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่จะไม่เกิดการทรุดตัวของชั้นดินแน่นอน