วันนี้ (31 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไทยโชว์ 13 ประเด็นความสำเร็จบนเวทีการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 18
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 18 เปิดเผยว่า ในฐานะที่ไทยผลักดันในฐานะประธานอาเซียน (Priority Economic Deliverables) คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยินดีกับความสำเร็จและรับทราบความคืบหน้า Priority Economic Deliverables ทั้ง 13 ประเด็น
ล่าสุดอาเซียนดำเนินการเสร็จแล้ว 8 ประเด็น ได้แก่
- การจัดทำแผนการดำเนินงานตามกรอบการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน
- แนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะ/ผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4
- การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน
- หลักเกณฑ์กรอบการจัดตั้งกลไกการชำระเงินสกุลท้องถิ่น
- การพัฒนากลไกการระดมทุนจากภาคเอกชนสำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
- แนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการประมงที่ยั่งยืน
- แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน
- ความบันทึกความเข้าใจระหว่างศูนย์พลังงานอาเซียนและมหาวิทยาลัย/หรือสถาบันวิจัยในอาเซียน
และในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 คาดว่าจะมีความสำเร็จเพิ่มเติม 2 ประเด็น คือ (1) การประกาศแถลงการณ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และ (2) การสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
สำหรับ 3 ประเด็นที่เหลือ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้ ได้แก่ การจัดทำแผนงานด้านนวัตกรรมของอาเซียน การเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิก และการจัดทำแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารของอาเซียน
นอกจากนี้ คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยังรับรองแผนการดำเนินงานตามกรอบการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน ปี 2562-2568 ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงาน 6 ด้าน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน ประกอบด้วย (1) การอำนวยความสะดวกทางการค้า (2) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพร้อมกับการส่งเสริมการค้าดิจิทัลและนวัตกรรม (3) การส่งเสริมการชำระเงินดิจิทัล (4) การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล (5) การส่งเสริมวิสาหกิจ (6) กลไกความร่วมมือ
คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อผู้นำอาเซียน 5 ประเด็น คือ
1.อาเซียนจะต้องมุ่งมั่นที่จะลดต้นทุนธุรกรรมทางการค้าและพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาค เพื่อให้เกิดการค้าที่เปิดกว้างและมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน
2) อาเซียนควรมีการทบทวนความร่วมมือที่มีอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการทบทวนชื่อให้สอดคล้อง และการทบทวนแผนงาน เป็นต้น
3) การพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ด้านการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ 4IR
4) ต้องคำนึงถึงประเด็นความยั่งยืนในทุกมิติของการดำเนินการในอาเซียน
5) มีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ผลประโยชน์และโอกาสจาก AEC ผ่านการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่อง
การประชุม AEC Council ครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้ร่วมลงนามพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียนฉบับปรับปรุง (EDSM) โดยปรับปรุงพิธีสารฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2547 ให้ทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์