วันนี้ (31 ต.ค.2562) นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารวินรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะกรุงเทพมหานคร เห็นชอบในหลักการให้เพิ่มมาตรการลงโทษยึดเสื้อวินมอเตอร์ไซค์หากขับขี่บนทางเท้าเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อให้ระบุชัดเจน เนื่องจากข้อกำหนดเพิกถอนวินมอเตอร์ไซค์ในประกาศคณะกรรมการประจำ กทม.เรื่อง กำหนดสถานที่ตั้งวินและหลักเกณฑ์การออกหนังสือรับรองการใช้รถจักรยานยนต์สาธารณะในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2561 กำหนดให้เพิกถอนวินมอเตอร์ไซค์ได้หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ได้แก่
- ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาต
- เลิกประกอบอาชีพ
- ทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะเป็นอันระงับ
- ประพฤติตนไม่เหมาะสม เช่น ดื่มสุรา เล่นพนันบริเวณที่ตั้งวิน
- เสียชีวิตหรือทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้
ซึ่งเป็นการระบุกว้างๆ จึงเสนอควรเพิ่มเหตุการเพิกถอนเรื่องของการขับขี่บนทางเท้าเข้าไปด้วย เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องการตีความ และเพื่อให้เจ้าหน้าที่ในแต่ละเขตเกิดความมั่นใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ต้องเป็นกังวล แต่เรื่องของระยะเวลา 3 ปีนั้น เป็นเพียงหลักการเพื่อนำไปสู่การปรับแก้ ซึ่งต้องหารือรายละเอียดต่อไปในการประชุมคณะกรรมการบริหารวินรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ ซึ่งมีกรมการขนส่งทางบกเป็นประธาน
นายสกลธี ยืนยันว่า จำเป็นต้องใช้มาตการนี้ แม้จะมองว่าเป็นยาแรง แต่ง่ายสุด คือ วินมอเตอร์ไซค์ไม่ขึ้นไปขับขี่บนทางเท้าก็ไม่โดนยึดเสื้อวิน เหมือนคนที่มองว่า ปรับ 2,000 บาท แพงเกินไป แต่หากไม่ฝ่าฝืน เจ้าหน้าที่ก็เอาผิดไม่ได้
ก็ต้องใช้ยาแรง ถ้าอยากให้ปัญหาหมดไป แต่คงไม่ได้ 100% เพราะมีความเคยชินมานาน ด้วยความมักง่าย เพราะเวลาไม่เห็นเจ้าหน้าที่ก็ฝ่าฝืน
ดังนั้น กทม.ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบก็ต้องทำให้เกิดการฝ่าฝืนน้อยที่สุด ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการจำเป็นและสำคัญที่จะช่วยลดปัญหา และต้องยอมรับว่า จักรยานยนต์ป้ายขาวก็ฝ่าฝืนเยอะ แต่จำนวนวินมอเตอร์ไซค์ก็ไม่น้อยกว่ากัน จริงๆ แล้ว การตั้งวินมอเตอร์ไซค์ได้ ต้องมีการขออนุญาตและผ่านการอบรม จึงต้องทราบข้อกฎหมายมากกว่าคนทั่วไป
สถิติจับ-ปรับ ขี่บนทางเท้า 1 ปี พุ่ง 19 ล้าน
รองผู้ว่าฯ กทม. จึงเห็นว่า หากวินมอเตอร์ไซค์กระทำผิดไม่ควรจะมีโทษขั้นตักเตือนด้วยซ้ำ เพราะรู้กฎหมายอยู่แล้ว ที่ผ่านมาได้กำชับให้เทศกิจไปแจ้งกับวินมอเตอร์ไซค์ต่างๆ แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อประชาชน ยืนยันไม่ได้พุ่งเป้าที่วินจักรยานยนต์เท่านั้น ในอนาคตอาจจะเชิญบริษัทเอกชน เช่น LaLa Move Line Man หรือ Grab Bike มาหารือหากพนักงานกระทำผิดลักษณะเดียวกันนี้จะลงโทษถึงขั้นไล่ออกได้หรือไม่
นายสกลธี ระบุว่า ข้อมูลสำนักเทศกิจ ตั้งแต่ 1 ก.ค.2561 - 30 ต.ค.2562 ยอดปรับเกือบ 19 ล้านบาท ถือว่าเยอะมาก โดยรถจักรยานยนต์ที่มีการฝ่าฝืนมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ของคนทั่วไป รองลงมาเป็นวินมอเตอร์ไซค์ และกลุ่มพนักงานส่งของ ซึ่งปริมาณไม่แตกต่างกันมากนัก
ภาพ : สกลธี ภัททิยกุล
ขณะที่ มาตรการเพิ่มค่าปรับจาก 1,000 บาท ปรับ 2,000 บาท ที่ กทม.บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา เพียง 3 เดือน พบผู้กระทำผิดและมียอดปรับแล้วเกือบ 7 ล้านบาท แต่ก็ยอมรับว่า การเพิ่มค่าปรับทำให้ผู้กระทำผิดเกิดความหวั่นเกรงมากขึ้น
เงินค่าปรับที่เยอะ อาจเพราะเจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรุกมากขึ้น ปรับแพงขึ้น ไม่ได้แปลว่ายอดคนทำผิดไม่ได้ลดลง เพราะในจุดที่เคยเยอะมากก็ลดลง ซึ่งกำชับให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดต่อเนื่อง และเวียนให้ทั่วทุกจุด แต่ก็ต้องขอความร่วมมือสังคมช่วยกัน
ภาพ : สกลธี ภัททิยกุล
ประชาชนส่วนใหญ่หนุนยึดเสื้อวิน คุมขี่บนทางเท้า
ก่อนหน้านี้ กทม.ได้จัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นต่อการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ใน กทม. ในส่วนของภาคประชาชนจำนวน 5,000 คน พบว่า ร้อยละ 92.84 เห็นด้วยการตั้งจุดกวดขันจับปรับจอดรถหรือขับขี่บนทางเท้า ร้อยละ 75.74 เห็นด้วยที่ให้ปรับเป็นเงิน 2,000 บาท แต่ร้อยละ 64.28 เห็นว่า ค่าปรับ 2,000 บาท นั้นมากเกินไป ร้อยละ 89.82 เห็นด้วยกับนโยบายไม่ให้วินมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า และร้อยละ 71.7 เห็นด้วยในการยึดเสื้อวิน 3 ปี หากขับขี่บนทางเท้า นอกจากนี้ พบว่ายังมีการเสนอความคิดเห็น เช่น ควรมีมาตรการลงโทษจากเบาไปหนัก ต้องทำจริงและเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกพื้นที่ เป็นต้น
ส่วนผลสำรวจของวินมอเตอร์ไซค์ จำนวน 5,000 คน พบว่า ร้อยละ 86.68 เห็นด้วยกับการตั้งจุดจับปรับ ขับขี่บนทางเท้า ร้อยละ 65.48 เคยจอดหรือขับขี่บนทางเท้า ร้อยละ 92.44 ยินดีให้ความร่วมมือไม่จอดหรือขับขี่บนทางเท้า ส่วนเรื่องการลงโทษยึดเสื้อวิน 3 ปี เห็นด้วยเพียงร้อยละ 42.08 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 57.92 พร้อมเสนอว่ายึดเสื้อวิน 3 ปี รุนแรงเกินไป เนื่องจากมีโทษปรับอยู่แล้ว จึงเสนอให้ดำเนินการเป็นขั้นตอน เช่น ตักเตือนด้วยวาจา ยึดใบขับขี่ 1 เดือน หรือ 3 เดือน เป็นต้น