นักคิดและนักพูดแถวหน้าของไทย จับมือภาคเอกชนล้อมวงพูดคุยการเตรียมตัว "อยู่ดี และตายดี" ด้านเลขาธิการมูลนิธิสายธารแห่งความหวัง ระบุปัจจุบัน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เปิดทางให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายสามารถเลือกการรักษาแบบประคับประคองที่บ้านแทนการรักษาเพื่อยื้อชีวิต หวังเพิ่มความสุขให้กับผู้ป่วยและครอบครัว พร้อมทั้งช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล
วันนี้คุณเตรียมตัวแล้วหรือยัง ที่จะบอกคนอื่นว่า เราจะจากไปแบบไหน
เป็นคำถามที่เกิดขึ้น ระหว่างเวทีทอล์ค (2 พ.ย.62) "โชคดีที่ได้เลือก" จัดขึ้นโดย "ชีวามิตร" ศูนย์ข้อมูลและทางเลือก เข้าถึงคุณภาพชีวิตระยะสุดท้ายอย่างเท่าเทียม พร้อมภาคเอกชน ชวนคนในสังคม พูดเรื่องความตายอย่างเข้าใจ และตระหนักถึงทางเลือกในการใช้ชีวิต เพื่อการอยู่ดีทั้งกายและใจ
ชญาน์ทัต วงศ์มณี
ช่วงแรก เป็นการพูดคุยในหัวข้อ "อยู่สบาย" ชญาน์ทัต วงศ์มณี หรือที่รู้จักกันในนาม ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ คอลัมนิสต์ชื่อดัง ถามตอบปัญหาชีวิตมนุษย์เงินเดือน กล่าวบนเวทีว่า คำถามหลักๆ ที่คนชอบถามเข้ามาในเพจ เช่น "เพื่อนที่ทำงานทักว่าอ้วน" "นินทาหัวหน้าทางไลน์ผิดกลุ่มจะทำอย่างไรดี" "ทำไมหัวหน้าชอบคิดว่าคนที่ทำงานดึกเป็นคนขยัน" แต่สุดท้ายจะจบที่ประโยค "ลาออกดีไหม"
สิ่งเหล่านี้คืออาการ "ออฟฟิศซินโดรม" ที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับร่างกาย แต่กำลังบั่นทอนอารมณ์ และความรู้สึก รุนแรงที่สุดอาจทำให้เราเกลียดงานที่เรารัก ละเลยครอบครัว รู้สึกไร้ค่า ทางแก้ปัญหาคือเราอาจถามตัวเองว่า ตลอดการทำงาน เรามีช่วงเวลาแห่งความสุขเท่าไหร่ ความทุกข์เท่าไหร่ พร้อมกับจัดการกับความรู้สึกตัวเอง ว่าชีวิตการทำงานไม่ได้สวยงามตลอดไป
เมื่องานที่คุณกำลังทำอยู่ทำให้คุณกลายเป็นคนที่แม้แต่ตัวคุณเองก็ยังเกลียด คุณมีสองทางเลือก นั่นคือเปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนตัวเอง
สื่อ คือเครื่องมือประโคมค่านิยม ที่มีพลังที่สุด
พิมพ์อร โมกขะสมิต
บล็อคเกอร์สายสุขภาพ อย่าง แม้ดหมี่ พิมพ์อร โมกขะสมิต กล่าวว่า ในช่วงวัย 19 เธอได้รับอิทธิพลอย่างมากในเรื่องของรูปร่าง จากสื่อทางทีวี และนิตยสาร แม้จะได้หุ่นที่ดีตามอุดมคติในเวลานั้น แต่แนวทางลดความอ้วนที่ตึงเกินไป ทำให้เธอเป็นโรคกินไม่หยุด (binge eating disorder) ทำให้น้ำหนักพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ถูกทักจากคนในสังคม จนเป็นโรคซึมเศร้า เมื่อเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ และยอมรับในรูปร่างของตัวเอง ตอนนี้เธอกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจลดน้ำหนัก ที่สมาชิกติดตามกว่า 100,000 คน
การให้รางวัลตัวเองด้วยการทานอาหารที่ชอบ 30% ในมื้ออาหาร จะทำให้เราลดน้ำหนักอย่างมีความสุข และยั่งยืน สุดท้ายคือเราต้องพอใจในจุดที่เพอร์เฟคของตัวเอง
ในช่วงที่ 2 เป็นการพูดคุยในหัวข้อ "ตายดี" มีศิลปิน นักคิด นักเขียน สะท้อนประสบการณ์ ของการเตรียมพร้อมเพื่อเผชิญหน้ากับความตายอย่างมีสติ อาทิ นที เอกวิจิตร หรือ อุ๋ย บุดดาเบลส ที่ทำคลิปพินัยกรรม สั่งเสียครอบครัว ให้จัดงานศพในแบบที่ตั้งใจไว้ และสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักคิดนักเขียน นามปากกา "นิ้วกลม" ที่เคยออกแบบงานศพซ้อมตายของตัวเองที่วัดธาตุทอง ซึ่งทั้งหมดพบว่า ก่อนตาย สิ่งที่คิดถึงหรือคนที่อยากพบมากที่สุด คือคนในครอบครัว ดังนั้น ควรใช้ทุกวินาทีอย่างคุ้มค่า เพื่อให้ตัวเองจากไปอย่างสงบในวาระสุดท้ายของชีวิต
ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร
ด้าน ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ผู้อำนวยการเยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม และเลขาธิการมูลนิธิสายธารแห่งความหวัง กล่าวว่า ถ้าตัวผู้ป่วยระบุว่า ปัจจุบัน หากแพทย์วินิจฉัยว่าการรักษาเป็นเพียงการยื้อชีวิตไว้เท่านั้น ก็สามารถให้ทางเลือกผู้ป่วยได้ว่า อยากจะรับการรักษาต่อ หรือกลับไปดูแลแบบประคับประคองที่บ้าน โดยที่แพทย์ไม่ต้องกังวลในทางกฎหมาย เพราะมีมาตรา 12 ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่ให้อำนาจแก่ผู้ป่วยในการตัดสินใจ จากการรักษายังพบว่า แนวทางนี้ช่วยเพิ่มความสุขให้กับผู้ป่วย และคนในครอบครัว อีกทั้งการนำกลับไปดูแลที่บ้านยังช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้ด้วย
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีครอบครัว ควรมีการพูดคุยกันไว้ล่วงหน้า หรือทำพินัยกรรมสั่งเสียเช่น หากตัวเองไร้ซึ่งสติ สัมปชัญญะ ต้องการที่จะได้รับการดูแล หรือรักษาแบบไหน เพื่อป้องกันการถกเถียงในภายหลัง
เวทีพูดคุยครั้งนี้ ยังมีนิทรรศการ ที่ให้คำแนะนำในการใช้ชีวิต ตั้งแต่การเลือกกินอาหารให้ถูก กับนักโภชนาการ ศาสตร์ไทเก็กที่ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ โซนอาหารและเครื่องดื่มมรณานุสติ รวมถึงกิจกรรมให้ผู้ที่เข้าร่วมทดลองเขียนสมุดเบาใจ และเขียนจดหมายถึงอนาคต เพื่อแสดงเจตนาในการตายดี