ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ตัดสินใจประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 1.25% ต่อปี ซึ่งต่ำสุดเทียบเคียงช่วงวิกฤตการเงินโลก นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เป็นเครื่องมือการเงินอย่างหนึ่งสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ธนาคารฯ จึงได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราเท่ากัน 0.125% ทำให้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR (Minimum Retail Rate) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี หรือ MOR (Minimum Overdraft Rate) ลดลงจาก 6.87% เหลือ 6.745% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา หรือ MLR (Minimum Lending Rate) ปรับลดลงจาก 6.50% เหลือ 6.375% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 2562 เป็นต้นไป
สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารฯ ยังคงภารกิจหลักมุ่งมั่นส่งเสริมการออม จึงชะลอการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝาก โดยยังคงให้ผู้ฝากเงินฝากทุกประเภทได้รับผลตอบแทนในอัตราเท่าเดิมจนถึงสิ้นปี 2562 หลังจากนั้นจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.125% มีผลวันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป
นายชาติชาย กล่าวอีกว่า ในวันนี้ลูกค้าผู้ฝากของธนาคารออมสิน ยังคงได้รับดอกเบี้ยในอัตราเดิมต่อไปอีกเกือบ 2 เดือน โดยธนาคารฯมีนโยบายที่จะลดดอกเบี้ยเงินฝากให้ช้าที่สุดเพื่อส่งเสริมการออมอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ลูกค้าและประชาชนเร่งมาฝากเงินก่อนที่ธนาคารฯ จะลดดอกเบี้ยเงินฝากในวันขึ้นปีใหม่ 2563 โดยขอแนะนำว่าให้ฝากเงินระยะยาวเพื่อจะได้รับดอกเบี้ยที่คุ้มค่ามากกว่าเมื่อมีการปรับลดในวันที่ 1 ม.ค.2563
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มีเจตนารมณ์ที่จะช่วยลดภาระต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย เพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อความท้าทายจากสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศ จึงขานรับทิศทางการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ด้วยการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% มาอยู่ที่ 6.87% พร้อมกันนี้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง 0.25% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะสภาพคล่องในระบบการเงินในปัจจุบัน ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำใหม่ จะมีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (8 พ.ย.2562) เป็นต้นไป