เมื่อวานนี้ (13 พ.ย.2562) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะจัดทำโครงการ "ยุวชนสร้างชาติ" เพื่อลดหรือชะลออัตราการว่างงานของบัณฑิตใหม่ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศและการมีงานทำของประชาชน โดยปัจจุบันจากการสำรวจพบว่ามีบัณฑิตที่ตกงานมากถึง 370,000 คน และในเดือน มี.ค.2563 หรือในอีก 4 เดือนข้างหน้า จะมีบัณฑิตกำลังจะจบจากมหาวิทยาลัยอีก 300,000 คน ซึ่ง 50 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะตกงาน ทำให้มีบัณฑิตกำลังจะตกงานรวมกว่า 500,000 คน
ดังนั้น รัฐบาลจึงมอบให้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จัดทำโครงการยุวชนสร้างชาติ ซึ่งจะมี 3 โครงการย่อย ประกอบด้วยบัณฑิตอาสา อาสาประชารัฐ และกองทุนยุววิสาหกิจเริ่มต้น เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าว โดยจะใช้งบประมาณ 8,600 ล้านบาท ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้ว ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในเดือน ธ.ค.นี้ และมั่นใจว่าจะช่วยลดอัตราการว่างงานของบัณฑิตใหม่ในสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบที่สำคัญจะก่อให้เกิดอาชีพใหม่ด้วย
"ยุวชนสร้างชาติ" แยกเป็น 3 โครงการย่อย
นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า โครงการยุวชนสร้างชาติมีเป้าหมายคือเยาวชนวัยหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัยและบัณฑิตจบใหม่ โดยวิธีการแก้ปัญหาจะผ่าน 3 โครงการย่อย คือโครงการบัณฑิตอาสา เพื่อช่วยบัณฑิตตกงาน ใช้งบประมาณ 8,000 ล้านบาท รับจำนวนกว่า 50,000 คน เพื่อให้ลงไปพัฒนาพื้นที่ในชุมชนร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ โดยจะรับบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 3 ปี ระยะเวลา 12 เดือน โดยจะได้เงินเดือน 10,000-15,000 บาท สามารถสมัครได้ที่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ทั้งนี้ โครงการบัณฑิตอาสา จะมีหลักการคล้ายๆ กับโครงการบัณฑิตอาสาของอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ส่งนักศึกษาที่จบมหาวิทยาลัยไปทำงานพัฒนาชนบท
โครงการที่ 2 คือโครงการอาสาประชารัฐ งบประมาณ 500 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือนักศึกษาปี 3-4 จำนวน 10,000 คน ใช้ระยะเวลาทำงาน 4-5 เดือนหรือ 1 ภาคเรียน ให้ไปทำงานร่วมกับชาวบ้านและสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ทั้งหมด โดยจะมีค่าเบี้ยเลี้ยงให้คนละ 5,000 บาท และโครงการที่ 3 กองทุนยุววิสาหกิจเริ่มต้น งบประมาณ 100 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายจะเป็นนิสิตนักศึกษาร่วมกับบุคลากรมหาวิทยาลัย ใช้ระยะเวลา 3-5 ปี เพื่อให้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทดลองจัดตั้งสตาร์ตอัพ พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจ นวัตกรรมสังคมและนวัตกรรมสร้างสรรค์
คาดว่าช่วยลดจำนวนบัณฑิตตกงาน 10%
รมว.การอุดมศึกษาฯ กล่าวอีกว่า โครงการยุวชนสร้างชาติ จะช่วยลดจำนวนบัณฑิตตกงานได้ประมาณร้อยละ 10 และจะเริ่มโครงการอาสาประชารัฐก่อนในเดือน ธ.ค.นี้ นำร่องในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 จังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศ โดยให้นักศึกษา 500 คน จัดกลุ่มทำงานเป็นทีม ทีมละ 8-10 คน มาจากการรวมตัวของหลากหลายคณะ นำความรู้ที่เรียนมาไปทำงานร่วมกับชาวบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนในมิติต่างๆ โดยเฉพาะด้านความยากจน ความเหลื่อมลํ้า และปัญหาคุณภาพชีวิต
โดยนักศึกษาเหล่านี้ต้องพักอาศัยในชุมชนที่ทำโครงการเป็นเวลา 4-5 เดือน คิดเป็น 1 ภาคเรียน เรียนรู้ร่วมกับชุมชน มีการทำงานกับชุมชนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามหลักวิชาการ มีอาจารย์ที่ปรึกษาประจำทีม และมีความร่วมมือกับหน่วยงานภายในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ รวมถึงหน่วยงานอื่นในพื้นที่ ซึ่งนักศึกษาสามารถเทียบโอนหน่วยกิตการลงพื้นที่ได้เทียบเท่ากับที่เข้าเรียนในชั้นเรียนทั้งหมด
จากนั้นจะเริ่มโครงการบัณฑิตอาสาในทั่วประเทศ ซึ่งจะต้องไปขึ้นทะเบียนกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่และทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 8-10 คน แต่ละกลุ่มจะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบพื้นที่ชุมชน 1 ชุมชนและต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสำคัญคือสมาชิกในกลุ่มทุกคนจะต้องพำนักอาศัยในชุมชนนั้นเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านและทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย