วันนี้ (14 พ.ย.62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีบรรจุประจำการเครื่องบินขับไล่ F-5TH และอากาศยานไร้คนขับแบบ RTAF U1 ณ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง ตามวิสัยทัศน์กองทัพอากาศที่จะก้าวไปสู่กองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถทั้ง 3 มิติ ได้แก่ มิติทางอากาศ มิติไซเบอร์ และมิติอวกาศ เน้นวางรากฐานการพัฒนาในทุกๆ ด้าน รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับสรรพกำลังของชาติทุกภาคส่วน ในการพัฒนากำลังของกองทัพอากาศ และการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะทำให้กองทัพอากาศสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน กองทัพอากาศตระหนักถึงการใช้ขีดความสามารถในการป้องกันประเทศอย่างมีประสิทธิภาพตามโครงสร้างกำลังรบ ภายใต้กรอบงบประมาณของกองทัพอากาศที่มีอยู่อย่างจำกัด
ซึ่งกองทัพอากาศ ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างอากาศยาน และเพิ่มขีดความสามารถของเครื่องบินแบบ F-5TH จำนวนทั้งสิ้น 14 เครื่อง โดยปรับปรุงติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบ Avionics ที่ทันสมัย ระบบป้องกันตนเอง ระบบเรดาร์ใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับเป้าหมาย รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการใช้อาวุธสมัยใหม่ที่มีความแม่นยำสูงและระยะยิงไกล อีกทั้งยังมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (Network Centric Operation) ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (Tactical Data Link) เพื่อรองรับการใช้งานระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (Link-T) เทียบเท่าเครื่องบินขับไล่แบบที่ 20/ก หรือ เครื่องบินแบบ GRIPEN 39 C/D ในยุค 4.5
นอกจากนี้ กองทัพอากาศยังได้ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศในการสนับสนุน และร่วมมือกันผลิต อากาศยานไร้คนขับแบบ RTAF U1 จำนวน 17 เครื่อง ซึ่งได้รับการออกแบบและผลิตตามมาตรฐาน รวมถึงข้อกำหนดความสมควรเดินอากาศสากล โดยสามารถปฏิบัติภารกิจได้ต่อเนื่อง 8 ชั่วโมง ในรัศมีปฏิบัติการ 100 กิโลเมตร และสามารถวิ่งขึ้นและร่อนลงสนามบินด้วยระบบอัตโนมัติ มีสมรรถนะ และขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางทหาร และการปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม
ผู้บัญชาการทหารอากาศย้ำว่า การบรรจุอากาศยานทั้ง 2 แบบ เข้าประจำการถือเป็นประวัติศาสตร์ก้าวสำคัญของกองทัพอากาศในการดำเนินการตามแนวทางการพึ่งพาตนเอง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแกร่ง ระดมสรรพกำลังความร่วมมือของชาติทุกภาคส่วน โดยมีแผนจะต่อยอดไปยังเครื่องบิน AU23 และอัลฟ่าเจ็ต ซึ่งน่าจะพัฒนาไปถึงขั้นการผลิตอากาศยาน หรือบางชิ้นส่วนได้เองภายในปี 2580 ตามยุทธศาสตร์ของกองทัพอากาศ
โดยกองทัพอากาศคาดหวังพัฒนาบุคลากรของกองทัพอากาศให้สามารถเข้าถึงและได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยตรง ซึ่งทำให้สามารถนำวิทยาการดังกล่าวมาประยุกต์ พัฒนา และต่อยอดเทคโนโลยีกำลังทางอากาศ ทำให้กองทัพอากาศมีขีดความสามารถสูงขึ้นในการป้องกันประเทศ และสามารถเผชิญภัยคุกคามได้ในทุกรูปแบบ เพื่อเป็นกองทัพอากาศที่สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างชาญฉลาดและมีความยั่งยืน
รวมถึงเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดในการจัดหา พร้อมการพัฒนาให้กับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนกองทัพอากาศให้ก้าวสู่กองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค “One of the Best Air Forces in ASEAN” และการพัฒนากองทัพอากาศภายใต้การพึ่งพาตนเองได้ในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม