วันนี้ ( 15 พ.ย.2562) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลทดสอบ น้ำส้มคั้นสด 25 ตัวอย่างและน้ำส้มบรรจุกล่องผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ ที่ระบุว่าเป็นน้ำส้ม 100 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 5 ตัวอย่าง ซึ่งเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 โดยพบสารเคมีตกค้างในตัวอย่างน้ำส้ม 18 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 60 และไม่พบจำนวน 12 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 40
น้ำส้มที่ไม่พบสารเคมีตกค้าง 12 ตัวอย่าง ได้แก่ Orangee, Nalit Juice, Farm Fresh, น้ำส้มอุดมพันธ์, Oranginal, เจ้ทิพย์ จิ้ดจ้าด, Orange Juice Healthy Valley, C-orange, กรีนการ์เด็น , We are Fresh, มาลี(Malee) และ Healthy Plus
ส่วนน้ำส้มที่พบสารเคมีตกค้าง จำนวน 18 ตัวอย่าง ได้แก่ Gourmet Juice by Hai Fresh Juice พบสารเคมี 7 ชนิด, Good Monday พบสารเคมี 6 ชนิด, Farmacy by Mad About Juice พบสารเคมี 4 ชนิด, ร้านกานดา พบสารเคมี 4 ชนิด, The Orange พบสารเคมี 3 ชนิด, Smile พบสารเคมี 2 ชนิด, Juice พบสารเคมี 2 ชนิด, Kiss C. Juice พบสารเคมี 2 ชนิด, Beautea Fres hพบสารเคมี 2 ชนิด, ส่วนส้มฝากนาย, ร้าน Hurom Juice Café, ทิปโก้ส้มโชกุน, ทิปโก้ส้มเขียวหวาน, ทิปโก้ส้ม Squeeze โชกุน, ทิปโก้ส้มสายน้ำผึ้ง พบสารเคมี 1 ชนิด, โดยใน Mrs Smoothie So orange, Teddy Zero, สวนส้มธนาธร พบสารเคมี 1 ตัวอย่างในปริมาณที่มีการตกค้างน้อยมาก
การทดสอบครั้งนี้พบสารเคมีตกค้างจำนวน 13 ชนิด ดังนี้
- Imazalil พบในน้ำส้ม 8 ยี่ห้อ
- Imidacloprid พบในน้ำส้ม 8 ยี่ห้อ
- Ethion พบในน้ำส้ม 5 ยี่ห้อ
- Carbofuran พบในน้ำส้ม 4 ยี่ห้อ
- Carbendazim พบในน้ำส้ม 3 ยี่ห้อ
- Acetamiprid พบในน้ำส้ม 3 ยี่ห้อ
- Carbofuran-3-hydroxy พบในน้ำส้ม 3 ยี่ห้อ
- Profenofos พบในน้ำส้ม 2 ยี่ห้อ
- Chlorpyrifos พบในน้ำส้ม 1 ยี่ห้อ
- Methomyl พบในน้ำส้ม 1 ยี่ห้อ
- Azoxystrobin พบในน้ำส้ม 1 ยี่ห้อ
- Fenobucarb พบในน้ำส้ม 1 ยี่ห้อ
- Prothiofos พบในน้ำส้ม 1 ยี่ห้อ
ทั้งนี้ ผลการทดสอบยังพบวัตถุกันเสีย 4 ตัวอย่าง แต่ไม่เกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 คือ ไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีกรดเบนโซอิก 3 ตัวอย่างได้แก่ ส้มฝากนาย (190 มิลลิกรัม/กิโลกรัม),อุดมพันธุ์ (50.8 มิลลิกรัม/กิโลกรัม), Healthy Plus (66.6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ส่วนกรดซอร์บิกพบ 2 ตัวอย่างได้แก่ Healthy Plus(52.4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม)¸Malee จากส้มสายน้ำผึ้ง (43.1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม)
นอกจากนี้ ผลทดสอบหายาปฏิชีวนะ 4 ชนิด ได้แก่ Amoxycillin, Ampicillin, Benzyl penicillin และ Tetracycline ผลทดสอบไม่พบการตกค้างยาปฏิชีวนะทั้ง 4 ชนิดในทุกตัวอย่าง แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ
นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thai-PAN) กล่าวว่าปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรใน น้ำส้มคั้นสดและน้ำส้ม 100% จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 356) พ.ศ.2556 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท หรือประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม (ฉบับที่ 3635) พ.ศ.2549 กําหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมน้ำผลไม้ มาตรฐานเลขที่ มอก.99 – 2549 ซึ่งหมายความว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ยอมรับให้มีการตกค้างของสารเคมีในน้ำส้มคั้นสดและน้ำส้ม 100%
ตัวอย่างที่พบสารเคมีตกค้าง มาจากการคั้นสดแล้วบรรจุขวดขายโดยตรงแก่ผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์บรรจุในขวดปิดสนิทที่ได้รับเครื่องหมาย อย.และรวมทั้งผลิตภัณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม จึงเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในน้ำส้มและผลิตภัณฑ์น้ำผักผลไม้ต่อเนื่อง และประกาศให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลทุกครั้ง และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการผลิตอาหารอย่างเข้มงวดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางของการผลิตอาหาร
ผศ.ภกญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) กล่าวว่าการไม่พบยาปฏิชีวนะทั้ง 4 ชนิดในทุกตัวอย่าง เป็นเรื่องที่น่ายินดี เห็นพัฒนาการที่น่าพอใจ เพราะเคยมีรายงานในปี 2560 พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในน้ำส้ม แม้จะมีปริมาณไม่มาก ทั้งนี้ การไม่พบอาจไม่ได้สามารถยืนยันได้ว่าไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะจากงานวิจัยปีล่าสุด พบว่าสวนส้มมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากถึง 95% เรื่องนี้คงต้องศึกษาถึงการใช้และการตกค้างของเชื้อดื้อยาและยีนส์เชื้อดื้อยา ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะในการปลูกส้มอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนงาน หากตกค้างย่อมส่งผลต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมในหลายด้านที่ต่อเนื่องถึงคุณภาพดินและแหล่งน้ำ
หากเรารับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนบ่อยๆ อาจทำให้ได้รับยาปฏิชีวนะในปริมาณที่มากเกินไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งการได้รับยาดังกล่าวบ่อยครั้งจะส่งผลให้เกิดอาการแพ้ยา รวมถึงเกิดเชื้อดื้อยา ทำให้จำเป็นต้องใช้ยาที่แรงขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายอาจไม่มีตัวยาใดมารักษาได้เลย อีกทั้ง ยังคาดหวังว่ารัฐบาลจะกำกับให้มีนโยบายที่ชัดเจนในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในทางการเกษตรและยกเลิกการใช้ รวมถึงมีกลไกสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์