ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชาวแม่กลอง ต้นแบบนักวิจัยชุมชนสู่การจัดการน้ำยั่งยืน

สิ่งแวดล้อม
18 พ.ย. 62
15:16
3,543
Logo Thai PBS
 ชาวแม่กลอง ต้นแบบนักวิจัยชุมชนสู่การจัดการน้ำยั่งยืน
ชาวสมุทรสงครามนำเครื่องมือวิจัยร่วมแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำแล้ง น้ำกร่อย และน้ำเค็ม จนนำไปสู่ต้นแบบชุมชนที่สร้างงานวิจัยที่มีการมีส่วนร่วมอย่างได้ผล

เมื่อวันที่ (14 พ.ย.2562) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ( สกสว.) กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ( อว.) จัดเสวนา “การจัดการน้ำแบบบูรณาการ บนความหลากหายวัฒนธรรม ” ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและถอดบทเรียน การจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน


นายชรัส บุณณสะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า จ.สมุทรสงคราม มีระบบนิเวศแบบ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม และพื้นที่จังหวัดที่มีขนาดเพียง 416.7 ตร.กม.ประกอบด้วย 3 อำเภอ คือ อ.เมืองสมุทรสงคราม อ.อัมพวา และ อ.บางคนที โดยมีแม่น้ำแม่กลองเป็นแม่น้ำสายสำคัญไหลจากทิศเหนือลงทิศใต้ผ่าน ต.บางคนที อ.อัมพวา ก่อนจะไหลลงสู่อ่าวไทยที่ อ.เมืองสมุทรสงคราม แต่มีลำคลองมากกว่า 360 ลำคลอง และมีลำประโดงกว่า 2,000 สายกระจายทั่วพื้นที่ ทำให้จังหวัดเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่อการผลิตพืชผักผลไม้และอาหารทะเล แต่จากการที่เป็นเมืองปลายน้ำ ย่อมต้องได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามไปด้วย

ผู้ว่าฯสมุทรสงคราม กล่าวว่า แม่น้ำแม่กลองเป็นแม่น้ำที่มีน้ำมีคุณภาพดีที่สุดและเหลืออยู่อีกไม่กี่สายน้ำทั้งประเทศที่ยังใช้ได้ จึงต้องช่วยกันรักษาไว้เพื่อความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้เรื่องน้ำยังถูกกำหนดให้เป็น 1 ในประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัด คือ ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างเสริมประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ที่ต้องดำรงรักษาความเป็นเมืองที่มีระบบนิเวศ 3 น้ำให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศต่อไป

ปัญหาขัดแย้งน้ำจืด-น้ำเค็ม

นายปัญญา โตกทอง ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ระบุว่า ก่อนหน้านี้เคยเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในพื้นที่น้ำจืดที่ทำนา และชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่น้ำเค็มที่เลี้ยงกุ้ง รวมถึงภาครัฐที่มีความตั้งใจดีแต่อาจขาดความเข้าใจในพื้นที่ซึ่งได้ก่อสร้างประตูระบายน้ำที่เป็นบานชักจากก้นประตู ซึ่งเมื่อปล่อยน้ำจืดมาครั้งละมาก ๆ ก็ส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ
เมื่อตนเองได้ทุนวิจัยจาก สกว.และนำองค์ความรู้จากชาวบ้านมาประยุกต์ร่วมกันจึงได้รูปแบบของ "บานหับเผย" ซึ่งเมื่อน้ำมาก็ให้ไหลไปและเกิดการไหลเวียนและผสมผสานกับน้ำในพื้นที่ด้านล่าง ซึ่งการผสมกันของน้ำในปริมาณไม่มากจึงทำให้สัตว์น้ำจะอยู่ได้เพราะถ้าหากเร็วจะปรับตัวไม่ทัน และน้ำจากด้านบนก็ได้ระบายออกมา


ขั้นแรกหน่วยงานจะไม่ค่อยเข้าใจความคิด หรือ ยอมรับความชาวบ้าน แต่เมื่อเริ่มมีการรับฟัง จนมาช่วยกันพัฒนารูปแบบ จนนำไปสู่การแก้ปัญหา ซึ่งขณะนี้ปัญหาเรื่องน้ำก็เบาบางลงไปเพราะการแก้ปัญหาโดยใช้วิทยาศาสตร์ การทดลอง วิจัย นวัตกรรม ไม่ใช้ความรู้สึก โดยมองปัญหาเป็นศัตรูและหาวิธีแก้

ขณะนี้ ทั้งชาวนา หรือ ผู้เลี้ยงกุ้ง และเลี้ยงปลาตอนนี้ก็ร่วมมือกันในการแก้ปัญหาอื่น ๆ ต่อไป และสร้างเครือข่ายในการร่วมกันแก้ปัญหาเพราะยังมีปัญหาที่อยู่นอกเหนือชุมชนคือ มลพิษจากแหล่งอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่างของลำน้ำ ที่จะต้องแก้ไขต่อไป

 

จัดการลำน้ำแก้ภัยแล้ง


ขณะที่นายมนัส บุญพยุง กำนันตำบลบางสะแก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ที่เล่าถึงปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.บางคนที ที่ส่วนใหญ่ปลูกผลไม้ ส้มโอ ลิ้นจี่ มะพร้าว ซึ่งประสบปัญหาภัยแล้งสาเหตุจากลำคลองตื้นเขิน โดยเฉพาะในลำประโดง (คลองขนาดเล็กที่อยู่ในสวนผลไม้) ทำให้เมื่อน้ำใหม่เข้ามาก็ถูกปิดกั้นน้ำไม่สามารถไหลเข้ามาเติมในสวนที่อยู่ด้านในได้

 

แนวทางหนึ่งคือ กิจกรรม “ลงแขก ลงคลอง" ซึ่งก็คือ การกำจัดวัชพืช และขุดเลนดินที่สะสมออกเพื่อแก้ปัญหาลำคลองตื้นเขิน ซึ่ง จุดนี้มีความร่วมมือทั้งจาก สกสว.ในการนำเครื่องมือมาสำรวจพิกัดเพื่อกำหนดจุด ความลึก ความยาวของลำประโดงที่มีอยู่จำนวนมาก เพื่อนำไปสู่การออกเทศบัญญัติในการดูแลลำประโดงต่อไป รวมถึงการนำเครื่องมือที่เหมาะสมมาใช้ในการขุดลอกคลองโดยที่สามารถสอดคล้องกับระเบียบงบประมาณมาใช้ได้อย่างถูกต้อง 

 

ชุมชนลดมลพิษในน้ำ ฟื้นฟูหอยคลองโคน


ด้านนายวรเดช เขียวเจริญ ชาวบ้านคลองโคนฝั่งตะวันตก ของแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับตะกอนของแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นแหล่งหอยแครงและแหล่งกะปิที่สำคัญแต่มีปัญหาช่วงปี 54 - 55 เกิดปัญหาแพลงก์ตอนบลูมทำให้หอยแครงตาย ช่วงแรกยังไม่แน่ใจถึงสาเหตุเกิดว่าเกิดจากปรสิต หรือ ขาดอากาศ ซึ่งการที่ต้องการทำมาหากินต่อจึงได้ทำวิจัย โดยนักวิชาการช่วยการเก็บเก็บตัวอย่างน้ำ สภาพดิน และเก็บข้อมูลจึงพบว่าสาเหตุมีทั้งจากมลพิษทางน้ำที่ปนเปื้อนมาจากด้านบนมาสู่ด้านล่าง รวมถึงการนำไปสู่การจัดการมลพิษในชุมชนชาวคลองโคนซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่ได้จัดทำระบบบำบัดน้ำเสียหมดแล้ว

 

เล็งจัดทำแก้มลิงเสริมบริหารจัดการน้ำ

ด้านนายสุรชัย นำยาพล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า น้ำที่มาถึง จ.สมุทรสงคราม มาจากลุ่มน้ำแม่กลอง โดยอยู่ปลายน้ำรับน้ำจาก จ.กาญจนบุรี ทั้งนี้ จ.สมุทรสงคราม ไม่มีทั้งอ่างเก็บน้ำและฝายเก็บน้ำซึ่งต้องจัดการน้ำในสายแม่น้ำ ซึ่งมีคลองธรรมชาติจำนวนมาก และระบบเก็บกัก เพื่อดูแลพื้นที่น้ำจืดและน้ำเค็ม โดยมีประตูระบายน้ำบริเวณถนนพระราม 2 เก็บกักน้ำในช่วงต้นฝน และ ช่วงต้นฤดูฝนถึงฤดูหนาวจะเริ่มระบายน้ำเพื่อบรรเทาผลกระทบ

 

ทั้งนี้ในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้มีปัญหาจัดการน้ำจืดและน้ำเค็มจนเมื่อนำความรู้ของชลประทานมาผสมกับองค์ความรู้ของชาวบ้านและปรับวิธีการจัดการปัญหาใหม่โดยจัดทำประตูระบายน้ำโดยใช้บานหับเผย เมื่อน้ำขึ้นจะเป็นประตูเปิด-ปิดอัตโนมัติ ซึ่งเป็นนวัตกรรมระหว่างชลประทานและชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากนี้เพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้เองภายในจังหวัดจึงมีโครงการจัดทำแก้มลิงทุ่งหิน พื้นที่กว่า 2,000 ไร่ เพื่อใช้ในการจัดการน้ำเพื่อุปโภคและบริโภค

พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำช่วยอุดช่องโหว่

ด้าน รศ.เจษฎา แก้วกัลยา ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านงานวิจัยการจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ (สกสว.) ระบุว่า ขณะนี้พบว่าปัญหาของการขุดลอกคูคลองสาธารณะ ตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและระเบียบพัสดุภาครัฐ ที่แต่เดิมการขุดลอกคูคลองต้องเป็นตามที่กำหนดเท่านั้น แต่ด้วย พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำอนุญาตว่าจ้างพัสดุ สามารถเสนอให้ท้องถิ่นเป็นข้อกำหนดท้องถิ่นได้ เนื่องจากมีลักษณะแตกต่างจากที่อื่นได้ 

 

คนแม่กลองต้นแบบวิจัยท้องถิ่นเพื่อท้องถิ่น

ด้าน ผศ.ชูพักตร์ สุทธิสา ผู้อำนวยการภารกิจ การจัดทำแผนบูรณาการ (ววน.) เพื่อชุมชนและพื้นที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ (สกสว.) กล่าวว่า งานวิจัยของชาวแม่กลองจะเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ยั่งยืน เนื่องจากจุดเริ่มต้นคือการทำโดยคนในท้องถิ่น และมีจุดสำคัญคือ การสามารถสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นต้นแบบที่ดีที่ชุมชนอื่น ๆ จะนำไปปรับใช้


การใช้มาตรฐานเดียวอาจไม่เพียงพอ คนที่สำคัญคือคนในท้องที่และนำไปสู่การจัดการปัญหาที่สอดคล้องกับพื้นที่ ด้วยต้นทุนทางสังคม และปัญญา ที่นำมาบูรณาการ ซึ่งเห็นได้ชัดจากการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ซึ่ง จ.สมุทรสงคราม มีความหลากหลายด้านน้ำอย่างมากอย่างได้ผล

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง