วันนี้ (18 พ.ย.2562) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า พื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC ของ 3 จังหวัด คือ จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะด้านอุปโภคบริโภค ซึ่งจากการประเมินความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC พบว่ามีความต้องการใช้น้ำถึง 2,419 ล้านลูกบากศ์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของภาคตะวันออก จึงจำเป็นจะต้องรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทั้งจากการเพิ่มจำนวนประชากรและการพัฒนาด้านต่างๆ
นอกจากนี้ยังได้ประเมินความต้องการใช้น้ำในระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2580) พบว่ามีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นในทั้ง 3 จังหวัด ดังนี้ จ.ชลบุรี เพิ่มขึ้น 50% โดยมาจากด้านอุปโภคบริโภคเป็นหลัก จ.ระยอง เพิ่มขึ้น 52% ในด้านอุตสาหกรรมเป็นหลัก และ จ.ฉะเชิงเทรา เพิ่มขึ้น 12% ในด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก และความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC มีอัตราเพิ่มขึ้นของผู้ใช้น้ำจาก 4 ล้านคน เป็น 6 ล้านคน โดยเฉพาะในเขต จ.ชลบุรี
วางแผน 3 ระยะแก้ปัญหา-จัดการน้ำเขต EEC
สทนช.วางมาตรการเพื่อแก้ปัญหาและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC โดยมุ่งเน้นการกระจายน้ำให้ทุกภาคส่วน ซึ่งมีการวิเคราะห์ปัญหาการขาดแคลนน้ำ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1. ระยะเร่งด่วนในปี 2560 พบการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมในพื้นที่ชลบุรีและระยอง ในส่วนผู้ใช้น้ำนอกเครือข่ายน้ำ โดยปริมาณน้ำที่ขาดแคลนมีเพียง 1.23 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถใช้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้
2. ระยะกลาง ปี 2570 จะมีการวางแผนโดยหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมชลประทาน ดำเนินการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำใหม่ ปรับปรุงแหล่งเก็บน้ำเดิม ปรับปรุงระบบเครือข่ายน้ำเดิม และการทำระบบสูบน้ำกลับเข้าไปในแหล่งน้ำเดิม กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการสำรวจขุดเจาะน้ำบาดาลเพิ่มเติม ซึ่ง สทนช.ได้ทำการศึกษาและจัดทำเป็นแผนงานเพื่อเสนอเพิ่มเติม ซึ่งการดำเนินการได้ทำการจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนในแต่ละโครงการ โดยจะทำให้มีปริมาณน้ำในช่วงปี 2563-2570 เพิ่มขึ้น 705 ล้าน ลบ.ม.
3. ระยะยาวปี 2580 จะมีการจัดทำระบบเครือข่ายน้ำเพิ่มเติม และวางแผนการเพาะปลูกพืชใหม่ โดยเฉพาะในฤดูแล้งใน จ.ฉะเชิงเทรา และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าร้อยละ 15-20 ของปริมาณน้ำเสีย ซึ่งภายในช่วงปี 2570-2580 จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 166 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับภาพรวมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC เมื่อดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำระหว่างปี 2563-2580 จะส่งผลทำให้ปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้น 217 ล้าน ลบ.ม., เกษตรกรรม 547 ล้าน ลบ.ม., อุตสาหกรรม 107 ล้าน ลบ.ม. ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มปริมาณน้ำใน จ.จันทบุรี ด้วย