วันนี้ (21 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลกระทบที่เกิดจากอุณหภูมิสูงขึ้น ทั้งการเกิดภัยพิบัติที่รุนแรง สภาพอากาศแปรปรวน การขาดแคลนทรัพยากรน้ำและอาหาร ล้วนส่งผลกระทบทางลบต่อการเกษตร อุตสาหกรรม และผลิตภาพแรงงาน จากสภาวะการทำงานที่ยากลำบากขึ้น ทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจได้รับผลกระทบด้วย และยังไม่ได้นับรวมงบประมาณที่ต้องสูญเสียไปเพื่อแก้ไขและเยียวยา
อิโคโนมิสต์อิเทลลิเจนซ์ยูนิต หรือ อีไอยู เปิดเผยรายงานล่าสุดว่า อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น จะทำให้จีดีพีของโลก ลดลงร้อยละ 3 ภายในปี 2593 จาก 258 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,789 ล้านล้านบาท เหลือ 250 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,548 ล้านล้านบาท และจะทำให้ช่องว่างระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนายิ่งห่างมากขึ้นอีก ผลการวิเคราะห์ระบุว่าประเทศที่เสี่ยงสูงที่สุด คือแองโกลา ซึ่งจีดีพีเสี่ยงลดลงร้อยละ 6.1 รองลงมา คือไนจีเรีย ร้อยละ 5.9, อียิปต์ร้อยละ 5.5, บังกลาเทศ ร้อยละ 5.4 และเวเนซุเอลา ร้อยละ 5.1
ยูเอ็นชี้หลายประเทศอาเซียนเสี่ยงน้ำท่วมในอีก 50 ปี
ในระหว่างการเยือนไทยของนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน - ยูเอ็น เมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่าถ้าทุกประเทศยังไม่สามารถเอาชนะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ จะได้รับผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นในปี 2593 หรืออีก 50 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน ซึ่งจะเกิดน้ำท่วมในหลายๆ ประเทศ
ส่วนผลกระทบต่อโอกาสทางเศรษฐกิจ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ เช่น ในช่วงที่ไทยเจอสถานการณ์ฝุ่นละอองในระดับสูงเกินมาตรฐาน ถือว่าส่งผลกระทบต่อโอกาสด้านการท่องเที่ยว อยู่ที่ประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลานั้น
ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค.2562 ซึ่งพื้นที่เกษตรหลายแห่งประสบภัยแล้งหนักสุดในรอบหลายปี แต่ต่อมาเพียง 2 สัปดาห์ เกิดพายุโซนร้อนฝนตกหนัก จนเกิดน้ำท่วมฉับพลันในภาคอีสานตอนล่าง มีพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 3.36 ล้านไร่ ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ เป็นผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเห็นได้ชัด
สศก.เผยไทยติดอันดับ 10 เสี่ยงจากสภาพอากาศโลก
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานว่า ในการจัดอันดับดัชนีความเสี่ยงจากสภาพอากาศโลก ระหว่างปี ค.ศ. 1998-2017 ในรายงานล่าสุด ไทยอยู่ในอันดับที่ 10 ในปี 2017 หรือปี 2560 สูงขึ้นจากอันดับที่ 20 ในปีก่อนหน้า และคาดว่าภาวะโลกร้อน จะส่งผลให้ผลิตภาพการผลิตในภาคเกษตรไทยลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 25
ส่วนประเทศในอาเซียนที่เป็นคู่แข่งด้านสินค้าเกษตรของไทย เช่น เวียดนาม กลับได้รับอานิสงส์จากภาวะโลกร้อน เพราะอากาศอุ่นขึ้น ทำให้ผลิตภาพการผลิตจะสูงขึ้น ร้อยละ 5-25 ซึ่งหากการคาดการณ์ถูกต้องจะกระทบศักยภาพการแข่งขันของไทยในตลาดโลก ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญของไทย ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
"หนาวน้อย-หนาวสั้น" กระทบการตัดสินใจนักท่องเที่ยว
นางกรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า จากการศึกษาสภาพอากาศ "หนาวน้อย หนาวสั้น" จะกระทบการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทย เพราะเป็นกลุ่มที่ถูกดึงดูดด้วยอุณหภูมิที่ต่ำ และเย็นสบาย ดังนั้น อากาศที่ร้อนขึ้น อาจทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ตัดสินใจเปลี่ยนไปเที่ยวที่อื่น ซึ่งจะกระทบภาคธุรกิจ เช่น โรงแรม บริษัทนำเที่ยว ทัวร์ต่างๆ
ทั้งนี้ ในระยะ 10-20 ปีข้างหน้า โมเดลด้านภูมิอากาศชี้ให้เห็นว่าหน้าหนาวมีโอกาสจะสั้นลงประมาณ 1 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้ไฮซีซั่นภาคเหนือที่อยู่ระหว่างเดือน ธ.ค.-ปลายเดือน ก.พ. อาจหดสั้นลง กระทบการท่องเที่ยวภาคเหนือค่อนข้างมาก เพราะโครงสร้างรายได้ภาคเหนือ กระจุกตัวช่วงฤดูหนาว อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวภาคอื่นๆ ก็จะได้รับผลกระทบจากภาวะอากาศที่ร้อนขึ้นด้วย เช่น ภาคใต้ บริเวณใกล้ชายฝั่งจะถูกกัดเซาะและอุณหภูมิที่อุ่นขึ้น กระทบปะการังฟอกขาว ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลต์สำคัญด้านการท่องเที่ยวของภาคใต้
ทั้งนี้ การออกแบบนโยบายที่จะรองรับการเปลี่ยนของอากาศในภาคท่องเที่ยว ควรจะต้องดูตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ส่วนการแก้ปัญหาสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป หลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจสีเขียว ถูกพูดถึงกันมาก โดยเฉพาะพลังงานสีเขียว เนื่องจากพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของโลก และเป็นต้นเหตุสำคัญของการทำลายสิ่งแวดล้อมและการปล่อยมลพิษ