ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตรวจสต๊อกล่าสุด สารเคมีเพิ่ม 38,855 ตัน

สิ่งแวดล้อม
21 พ.ย. 62
17:27
1,265
Logo Thai PBS
ตรวจสต๊อกล่าสุด สารเคมีเพิ่ม 38,855 ตัน
รมช.มนัญญา พร้อมเซ็นต์เอกสารอนุญาตส่งออก 3 สารให้ผู้ประกอบภายใน 3 วัน จัดการสต๊อกสารเคมีที่เหลืออยู่ ก่อนวันที่ 1 ธ.ค. นี้ ด้านผู้ประกอบการเรียกร้องให้มีการชะลอยืดระยะเวลาออกไป เพราะกระบวนการจัดการในการเรียกคืน จัดเก็บ และทำลายต้องใช้เวลา

วันนี้ (21 พ.ย.2562) ผู้สื่อรายงานว่า น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือร่วมกับกลุ่มตัวแทนผู้นำเข้า ผลิต และส่งออก สารเคมีเกษตร เพื่อรับฟังปัญหาและแนวทางในการจัดการสารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ที่มีมติยกเลิกการใช้และจะมีผลบังคับใช้ตามมติในวันที่ 1 ธ.ค.นี้

 


นายสกล มงคลธรรมากุล ตัวแทนสมาคมอารักขาพืชไทย กล่าวว่าไม่เคยต่อต้านการแบนสารเคมีเกษตร ที่ผ่านมาตนอยู่มาตรงนี้ 30 ปี มีการแบนสารเคมีเกษตรมาแล้ว 50 - 60 ตัว ผู้ประกอบการพร้อมให้ความร่วมมือ แต่ครั้งนี้ที่เป็นปัญหา เพราะไม่มีการพูดคุยอย่างรอบด้าน ผู้ประกอบการไม่ค่อยมีโอกาสได้นำเสนอหรือสะท้อน ก่อนหน้าที่ยังไม่มีการพิจารณาทบทวนและมีมติแบน ก็มาสั่งระงับทะเบียน ทั้งที่ได้ดำเนินการขออนุญาตถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ทำให้ดำเนินการอะไรไม่ได้ ทั้งการส่งออก จนถึงเวลานี้ ก็ให้ส่งคืนประเทศต้นทาง ซึ่งเราซื้อเขามา เราจ่ายเงินลงทุน เขาได้เงิน แต่พอเราจะส่งคืน เขาคงไม่อยากรับคืน

สารส่วนใหญ่ซื้อมาเป็นหัวเชื้อ หรือ สารแยกประกอบ เมื่อผสมแล้ว ก็ยังคิดอยู่ว่าจะส่งคืนอย่างไร เป็นเรื่องยาก

ด้านนายจารึก ศรีพุทธชาติ สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่าไม่อยากให้ตีเส้น มองว่ามันลบ มันอันตรายอย่างเดียว ที่ผ่านมา เราทำการศึกษา เพื่อให้มันมีความปลอดภัยกับเกษตร หลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ก็เคยมีการยกเลิกใช้ไปก่อน และมีการรียูสมาใช้ใหม่อีก กรณีของไทยผมคิดว่าควรชะลอออกไปก่อน เพื่อมาคุยกันว่ามันจะเป็นไปอย่างไร จัดการอย่างไร ต้องใช้ระยะเวลา

ที่จะให้เผาทำลายทิ้งนั้น ก็เป็นเรื่องยาก ใช้เวลาเป็น 10 ปี กว่าจะเผาหมด และไม่ได้เผาง่ายเหมือนเผากระดาษทิ้งไป เพราะเผาสารจะมีความเป็นพิษ มีสารไดออกซิน ต้องเผาควันอีก เพราะควันก็มีความเป็นพิษในอากาศ คือ มีระยะเวลาของการดำเนินการ ต้องมีการศึกษาความเป็นพิษอีก

ดร.วรณิกา นาควัชระ สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย เห็นว่า การแบน 3 สาร ไม่ได้จบแค่การยกเลิกการใช้ เพราะส่งผลกระทบต่ออินเตอร์เทรด การนำเข้าวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งประเทศนำเข้ายังคงใช้ 3 สารอยู่ มันเป็นเรื่องกระทบการค้าระหว่างประเทศ ไม่อยากให้มองว่าเขาแทรกแซง แต่เป็นการทำผิดสัญญาระหว่างประเทศ


ผู้ประกอบการมีการขออนุญาต ถือสารในมือที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่อยู่ดี ๆ รัฐบาลมาทำให้สารเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แล้วมาบอกว่า เราต้องรับผิดชอบในการเผาทำลาย เป็นสิ่งที่เรารับไม่ได้แน่นอน

ดร.วรณิกา ยังระบุอีกว่า กลุ่มผู้ประกอบการเห็นตรงกันและเรียกร้องให้มีการทบทวนออกไป เพราะกระบวนการจัดการในการเรียกคืน จัดเก็บ และทำลายต้องใช้เวลา

"มนัญญา" ย้ำ พิจารณาทุกอย่างรอบด้านแล้ว


น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่า การยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้มีการพิจารณารวบรวมข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมและด้านต่าง ๆ อย่างรอบด้าน มีหลักฐานหนักแน่น จึงเป็นนโยบายที่จะรักษาสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และให้มีผลในวันที่ 1 ธ.ค.2562 ส่วนหากมีฝ่ายใดเห็นว่าจะต้องมีการชะลอ ทบทวน ก็มีคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่เป็นผู้พิจารณาตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ในส่วนที่ตนที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตรที่รับผิดชอบ 3 สาร เห็นว่าถึงเวลาที่ต้องยกเลิกแล้วตามกำหนด

ดิฉันพร้อมจะเซ็นต์เอกสารอนุญาตส่งออก 3 สารให้ผู้ประกอบภายใน 3 วัน เพื่อให้จัดการสต๊อกสารเคมีที่เหลืออยู่ส่งออกไปยังประเทศที่ยังใช้สารเคมีเหล่านี้ ทราบว่า มีเมียนมา กับสิงคโปร์ ที่ใช้สารเคมีเหล่านี้อยู่ และขณะนี้ก็มีหลายบริษัทที่ยื่นขอเข้ามาแล้ว


ทั้งนี้ จากการตรวจสต๊อก สารเคมี 3 ชนิด พบว่ามีการเปลี่ยนแปลง โดยในวันที่ 30 มิ.ย.2562 พบมีสต็อกคงเหลือ 36,243 ตัน จาก 103 บริษัท, วันที่ 5 ก.ค.2562 พบ 34,688 ตัน, วันที่ 30 ก.ย. 2562 เหลือ 29,669 ตัน, วันทีี่ 31 ต.ค.2562 เหลือ 23,263 ตัน แต่จากการรายงานตัวเลขสต๊อก ณ วันที่ 12 พ.ย.2562 กลับเพิ่มมา 38,855 ตัน


ส่วนภาพรวมการนำเข้าทั้ง 3 สาร พบว่า ปี 2558 นำเข้า 91,000 ตัน/ปี 2559 นำเข้า 96,000 ตัน/ปี 2560 นำเข้า 1 แสนตัน/ปี 2561 นำเข้า 81,000 ตัน และปี 2562 นำเข้า 36,000 ตัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ราชกิจจาฯ เผยแพร่คำสั่งแจ้งครอบครอง-ส่งมอบ 3 สารเคมีในสิ้นปีนี้

กลุ่มหนุนแบนสารพิษ เปิดเวทีเสนอทางเลือกทดแทน 3 สาร

ร่างกฎหมาย "แบนสารเคมี" ไม่เสร็จ หลังจ่อบังคับใช้ 1 ธ.ค.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง