วันนี้ (27 พ.ย.2562) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พร้อมด้วย ส.ส.พรรคภูมิใจไทย แถลงภายหลังเข้าชี้แจงคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ถึงกรณีการจ่ายค่าชดเชยแก่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า ตนเองพยายามปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติ เงินงบประมาณแผ่นดิน
โดยหลังจากเข้ารับตำแหน่ง ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษากรณีการจ่ายค่าชดเชยให้บริษัทโฮปเวลล์ โดยได้รับข้อมูลมาว่าการจ่ายเงินให้โครงการโฮปเวลล์ไม่น่าจะถูกต้อง และมีข้อพิรุธหลายประการที่หน่วยงานของรัฐไม่นำไปเป็นคู่ต่อสู้คดีที่ผ่านมา ซึ่งคณะทำงานได้ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการทุกฉบับอย่างรอบคอบ
คณะทำงานพบข้อพิรุธและรายงานให้ทราบว่าเป็นข้อมูลใหม่ที่มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่โครงการที่เพิ่งเกิดขึ้น สำหรับโครงการของรัฐ เรามีหลายโครงการที่สามารถป้องกันไม่ต้องจ่ายค่าโง่ หากมีการศึกษา มีข้อมูลเอกสารและสามารถนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลได้
สำหรับข้อพิรุธที่คณะทำงานพบมีทั้งหมด 9 ข้อ ดังนี้
1. วันที่ 6 ต.ค.2532 รายละเอียดโครงการไม่ตรงตามมติ ครม.
2. วันที่ 16 ต.ค.2532 การดำเนินงานของคณะกรรมการฯ รวดเร็วผิดปกติ และให้สิทธิประโยชน์มากกว่าตามหลักการที่เป็นมติ ครม.
3. วันที่ 15 ม.ค.2533 มีการแทรกแซงรายละเอียดโครงการโดย รมว.คมนาคมในขณะนั้น และคณะกรรมการฯ มีการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทโฮปเวลล์-ฮ่องกง
4. วันที่ 31 พ.ค.2533 โฮปเวลล์-ฮ่องกง เสนอเงื่อนไขไม่ตรงตามประกาศของคณะกรรมการ
5. วันที่ 6 ก.ค.2533 มีความผิดปกติในการร่างสัญญาสัมปทาน และการลงนามในสัญญาสัมปทาน
6. เดือน ส.ค.-พ.ย.2533 มีการเอื้อประโยชน์ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และหลีกเลี่ยงการใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 (ปว.281) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
7. วันที่ 9 พ.ย.2533 การลงนามในสัญญาสัมปทานไม่เป็นไปตามมติ ครม.
8. วันที่ 4 ธ.ค.2533 มีการรายงานข้อมูลเท็จต่อ ครม.
9. บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีสิทธิได้รับการส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในขณะนั้น
นายศักดิ์สยาม กล่าวยืนยันว่า ทั้ง 9 ข้อเป็นข้อมูลใหม่ที่จะฟ้องต่อศาลให้กลายเป็นโมฆะ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องจ่ายค่าโง่จำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะต่อสู้เรื่องนี้จนถึงที่สุด เบื้องต้นได้นำเรื่องดังกล่าวรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้รับทราบ โดยนายกฯ กำชับให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบและมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นำไปศึกษาควบคู่ไปด้วย
ส่วนขั้นตอนในการดำเนินคดีขณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ส่งเอกสารทั้งหมดให้กรมพัฒนาธุกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้เพิกถอนบริษัทโอปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้เป็นโมฆะในการเป็นคู่สัญญาของโครงการ ซึ่งมีเวลาพิจารณาภายใน 30 วัน หากไม่มีการเพิกถอนให้เป็นโมฆะ ก็จะร้องศาลปกครองให้มีคำสั่งต่อไป ซึ่งในระหว่างนี้จะไม่มีการบังคับคดีให้ชดเชยค่าเสียหาย
ขณะเดียวกันได้เตรียมยื่นเอกสารทั้งหมดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้ดำเนินการเอาผิดทั้งทางแพ่งและอาญา รวมถึงเสนอให้ยกเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากมีหน่วยงานและบุคคลเกี่ยวข้องจำนวนมาก