วันนี้ (28 พ.ย.2562) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงจุดยืนกระทรวงสาธารณสุขต่อการยุติการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิดว่า คณะกรรมการฯ ที่เป็นผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข ได้ยืนยันในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายวานนี้ (27 พ.ย.2562) ยืนยันตามมติเดิมในการประชุมเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2562 ที่ให้ยุติการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด ซึ่งมีการรับรองมติการประชุมไปแล้ว และได้ให้ข้อมูลถึงผลกระทบต่อสุขภาพทั้งเกษตรกรและประชาชน
รวมทั้งจากการประชุมทางไกลกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล และนายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ทุกคนมีความห่วงใยที่พบผู้ป่วยจากสารเคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีการปลูกพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด เช่นที่โรงพยาบาลน่านจากเดิมพบผู้ป่วยปีละ 45 คนเพิ่มเป็นเดือนละ 25 คน
สำหรับการเฝ้าระวังพืชผักผลไม้ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบสารเคมีตกค้างหลายชนิด เช่นที่ จ.พิษณุโลก พบสารพาราควอตตกค้างในกะหล่ำปลี 0.21 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สูงเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมถึง 20 เท่าซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทั้งระยะสั้นและระยะยาวรวมทั้งมีผลต่อทารกในครรภ์
กระทรวงสาธารณสุข ได้เพิ่มมาตรการดูแลสุขภาพประชาชน โดยให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พัฒนาศักยภาพ อสม. 80,000 คน ให้เป็น อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตรวจพืชผักผลไม้ แหล่งน้ำธรรมชาติ ตรวจหาสารพาราควอตด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น และเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากสารพิษ โดยประสานกับศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เข้มข้นความปลอดภัยของผัก ผลไม้ อาหารในประเทศ และที่นำเข้าจากต่างประเทศที่ด่านตรวจผ่านแดน 52 ด่าน
จุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขไม่เคยเปลี่ยนแปลงต่อการแบน 3 สาร ต่อจากนี้ไปจะเน้นการดูแลสุขภาพประชาชนให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับเยาวชนรุ่นหลัง ทั้งจากพัฒนาการล่าช้าและโรคต่าง ๆ เช่น โรคสมองเสื่อม มะเร็ง
สำหรับการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายวานนี้ (27 พ.ย.2562) ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขได้ยืนยันต่อที่ประชุมหลายครั้งว่า ยังคงยืนตามมติเดิมยุติการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด และขอให้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนตามข้อมูลที่มีจำนวนมากและชัดเจนที่เคยได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว พร้อมขอให้คงมติเดิม เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2562
ขณะที่ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาและอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ได้ย้ำในจุดยืนที่ไม่เปลี่ยนแปลง พร้อมยืนยันว่าการประชุมเมื่อวานนี้ (27 พ.ย.2562) ยังไม่ได้มีการลงคะแนนแต่อย่างใด ส่วนจะทำความเห็นแย้งต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายหรือไม่หลังแถลงว่ามติเป็นเอกฉันท์ เลขาธิการ อย.ระบุว่า ต้องรอรายงานการประชุมอย่างเป็นทางการก่อน