วันนี้ (29 พ.ย.2562) ศาลอาญา รัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศ และจำเลยที่เป็นพนักงานบริษัท เป็นจำเลยที่ 1-8 ร่วมกันกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ภาษีศุลกากร พ.ศ.2469
จากกรณีเมื่อระหว่างวันที่ 28 ก.ค.2546 ถึงวันที่ 24 มิ.ย.2549 พบว่าจำเลยทั้ง 8 คน ยื่นใบขนส่งสินค้าขาเข้า 272 ใบต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร เพื่อผ่านพิธีการศุลกากร โดยสำแดงราคาบุหรี่ต่ำกว่าราคาที่แท้จริง ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ลงพื้นที่สืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ประเมินราคาบุหรี่และค่าอากรแสตมป์ ทั้งสิ้นเป็นเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท
คดีนี้ศาลพิเคราะห์จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ได้ความว่า ในช่วงที่เกิดเหตุจำเลยมีการสำแดงต้นทุนราคาบุหรี่นอกยี่ห้อมาโบโร่ จากซองละ 9.5 บาท และสุดท้ายอยู่ที่ซองละ 7.76 บาท ส่วนบุหรี่ยี่ห้อแอลเอ็ม จากซองละ 7 บาท สุดท้ายอยู่ที่ซองละ 5.88 บาท แต่เมื่อดีเอสไอลงพื้นที่ไปตรวจเปรียบเทียบราคาต้นทุนที่ผลิตในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นทั้งต้นทางผลิต ส่งนำเข้ามาในไทย และส่งขายไปยังประเทศใกล้เคียง กลับพบว่ามีราคาต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ซองละ 13-19 บาท และเขตปลอดภาษีในไทยตั้งราคาขายอยู่ที่ซองละกว่า 20 บาท
แม้ว่าข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า มีการนำเข้าในใบขนบางส่วนถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็เป็นเพียงความเห็นทางคดี ไม่สามารถนำมาใช้รับฟังได้ เมื่อนำพยานหลักฐานมาวิเคราะห์แล้ว จึงพบว่าราคาต้นทุนของบุหรี่ที่โจทก์นำฟ้องในใบขน 272 ใบ รวมเป็นเงินกว่า 12,270 ล้านบาท ซึ่งพิเคราะห์ว่าตัวเลขดังกล่าวมีการนำราคาสินค้าในเขตปลอดชำระภาษี หรือ ดิวตี้ฟรี มาคำนวน ซึ่งมองว่าไม่เป็นธรรม จึงกำหนดราคาต้นทุนที่ต้องนำไปคำนวนภาษีเงินขาดเหลือเพียง 6,135 ล้านบาท และคำนวนภาษีเงินขาดได้ 306.4 ล้านบาท เมื่อนำไปเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับใหม่ จึงต้องชำระค่าปรับเป็นเงิน 1,225.9 ล้านบาท
ส่วนจำเลยที่ 2-8 ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทที่ลงลายมือชื่อในใบขนทั้ง 272 ใบ ศาลสั่งยกฟ้อง เพราะเห็นว่าทำไปตามหน้าที่ และไม่รู้เห็นกับการจัดทำใบขนที่ทำขึ้นในสหรัฐอเมริกา
หลังมีคำพิพากษา นายเจอรัลด์ มาโกลีส ชาวอเมริกัน ผู้จัดการสาขาบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ที่มาร่วมรับฟังคำพิพากษาในคดีนี้ด้วย กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกยินดีกับพนักงานทั้ง 7 คนที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ส่วนคำตัดสินในส่วนของบริษัทฯ จะยื่นอุทธรณ์ต่อไป เพราะมองว่าเรื่องข้อกฎหมายยังมีความขัดแย้งกันอยู่ โดยเฉพาะกับคำตัดสินที่องค์การการค้าโลก (WTO) เคยมีคำตัดสินไปก่อนหน้านี้ อีกทั้งยืนยันว่าบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายของไทยในเรื่องการแสดงราคาสินค้าและการยื่นสำแดงนำเข้ามาโดยตลอด