ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไทยยืนยันส่งอุรังอุตังกลับอินโดฯ แม้ที่เคยส่งคืนไม่ได้ปรับพฤติกรรม

สิ่งแวดล้อม
30 พ.ย. 62
13:43
1,281
Logo Thai PBS
ไทยยืนยันส่งอุรังอุตังกลับอินโดฯ แม้ที่เคยส่งคืนไม่ได้ปรับพฤติกรรม
ไทยยืนยันส่งอุรังอุตังกลับอินโดนีเซีย แม้ที่เคยส่งคืนไปแล้วก่อนหน้านี้กว่า 60 ตัว ไม่ได้ปรับพฤติกรรมกลับคืนสู่ป่า และเตรียมส่งไปอีก 2 ตัว เดือน ธ.ค.นี้

ไทยพีบีเอสออนไลน์ พบว่า อุรังอุตังที่เคยส่งกลับไปทั้งหมด 3 ครั้ง จำนวน 67 ตัว มีบางตัวเท่านั้นที่คืนสู่ธรรมชาติ ขณะที่อุรังอุตังตัวอื่นๆ ถูกส่งไปยังสวนสัตว์และซาฟารีในอินโดนีเซีย

นายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กุล ผอ.กองคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) กรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดเผยว่า ไทยพร้อมส่งอุรังอุตัง 2 ตัว ชื่อ ไจแอนท์และโคล่า กลับไปยังถิ่นกำเนิดที่ประเทศอินโดนีเซียในเดือนธันวาคมนี้ หลังจากผ่านการตรวจโรคและตรวจสุขภาพโดยเจ้าหน้าที่ไทยและอินโดนีเซียแล้ว

ไจแอนท์เป็นอุรังอุตัง พันธุ์สุมาตรา เพศผู้ วัย 7 ปี ปัจจุบันอยู่ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี

ไจแอนท์  (ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช)

ไจแอนท์ (ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช)

ไจแอนท์ (ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช)

 

โคล่าเป็นอุรังอุตัง สายพันธุ์บอร์เนียว เพศเมีย อายุ 10 ปี 5 เดือน ซึ่งเกิดภายในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี จากพ่อแม่ ชื่อ ไข่เค็ม กับ โค้ก ทั้งคู่เป็นอุรังอุตังที่ถูกส่งกลับไปอินโดนีเซียก่อนหน้านี้

โคล่า  (ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช)

โคล่า (ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช)

โคล่า (ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช)

 

ที่ผ่านมาไทยส่งคืนอุรังอุตังกลับไปยังประเทศอินโดนีเซียแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2549 จำนวน 48 ตัว อุรังอุตังที่ถูกส่งกลับเป็นของกลางที่ยึดได้จากสวนสัตว์ซาฟารีเวิร์ลเมื่อปี 2547 เนื่องจากสวนสัตว์ไม่สามารถระบุที่มาของอุรังอุตังจำนวนนี้ได้ และ ในปี 2550 ส่งกลับเพิ่มอีก 5 ตัว

ต่อมาในปี 2558 เป็นครั้งที่ 3 ที่ไทยส่งอุรังอุตังจำนวน 14 ตัวกลับไปยังอินโดนีเซีย ในจำนวนนี้ 11 ตัว เป็นของกลางที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในประเทศและกลัวความผิดจึงนำมาทิ้งไว้ที่จังหวัดภูเก็ต 11 ตัว อีก 1 ตัว ยึดได้จากจังหวัดชุมพร และ 2 ตัวเป็นลูกลิงอุรังอุตังเกิดใหม่

มีข้อมูลว่า อุรังอุตังทั้งหมดที่ถูกส่งกลับไปยังอินโดนีเซีย มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ถูกส่งไปยังศูนย์ฟื้นฟูพฤติกรรมเพื่อกลับสู่ป่า

ปี 2560 เดอะ จาการ์ต้า โพสต์ รายงานว่า อุรังอุตังในสวนสัตว์บาตู ซีเคร็ท ในเมืองบาตู เกาะชวาตะวันออก ให้กำเนิดลูกอุรังอุตัง โดยพ่อของมันคืออุรังอุตังที่ไทยยึดจากสวนสัตว์ซาฟารีเวิร์ลและส่งกลับไปยังอินโดนีเซียในปี 2549

ในปีถัดมา (2561) สำนักข่าวอินโดโพสต์ รายงานว่าอุรังอุตังที่ซาฟารีบนเกาะแห่งหนึ่งให้กำเนิดลูกอุรังอุตังอีกหนึ่งตัว โดยพ่อและแม่ของมัน เป็นอุรังอุตังที่ถูกส่งคืนจากประเทศไทย

ขณะนี้ ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่า มีอุรังอุตังจำนวนเท่าไร ที่ยังอยู่ในสวนสัตว์และซาฟารีทั่วประเทศอินโดนีเซีย แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางการอินโดนีเซียนำอุรังอุตังที่ถูกส่งคืนจากประเทศต่างๆ ไปไว้ตามสวนสัตว์และซาฟารี

โทรเลขของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์วิกิลีกส์ ระบุว่าในปี 2549 อินโดนีเซียได้รับอุรังอุตัง 2 ตัวจากเวียดนาม ทั้งคู่ถูกส่งไปกักกันโรคที่สวนสัตว์เอกชนชื่อ ทามานซาฟารี เป็นระยะเวลา 33 วัน แต่ปรากฏว่าล่วงเลยไปถึง 4 เดือน อุรังอุตังทั้ง 2 ตัวก็ยังคงอยู่ในซาฟารี และถูกจัดแสดงภายใต้คำโฆษณาว่า “การแสดงสัตว์เพื่อความบันเทิงเชิงการศึกษาจากอุรังอุตังและสัตว์อื่นๆ” ปัจจุบันซาฟารีแห่งนี้ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมอุรังอุตัง ท่ามกลางข้อร้องเรียนว่านี่อาจเป็นกิจกรรมที่หาประโยชน์จากสัตว์ป่า

ผอ.กองคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญาไซเตส กล่าวว่า จากการสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอินโดนีเซียพบว่าอุรังอุตังที่ไทยส่งกลับไปทั้งหมด 67 ตัวนั้น บางตัวไม่สามารถปรับพฤติกรรมคืนสู่ป่าได้

ทางอินโดนีเซียมีข้อจำกัดหลายเรื่อง เนื่องจากอุรังอุตังบางตัวอยู่กับเรานานมาก เป็นเวลา 10 ปีขึ้นไป บางตัวพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง บางส่วนเมื่อนำไปฝึกแล้วดูจากการประเมินไม่สามารถนำกลับคืนสู่ป่าได้ และบางตัวอาจติดเชื้อโรคบางอย่าง เช่น ไวรัสสายพันธุ์บีซึ่งติดไปตลอดชีวิตไม่สามารถรักษาได้ ดังนั้นการนำกลับคืนสู่ป่า จะทำให้สัตว์ป่าติดเชื้อโรคไปด้วย นั่นคือข้อจำกัดของอินโดนีเซียที่ทำให้เขาต้องดูแลรักษาอุรังอุตังบางส่วนไว้ในกรงเลี้ยงหรือพื้นที่จำกัด

ทั้งนี้ ในปีหน้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจะเดินทางไปประเทศอินโดนีเซียเพื่อติดตามความเป็นอยู่ของอุรังอุตังที่ส่งคืนไปก่อนหน้านี้ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากประเทศอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังมีอุรังอุตังที่อยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้แก่ ลูกอุรังอุตังจำนวน 4 ตัวในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้างซึ่งมีที่มาจากสองแหล่งแตกต่างกัน โดยอุรังอุตังคู่แรกเป็นของกลางที่ได้จากจากการล่อซื้อที่สะพานควาย กรุงเทพมหานคร ในราคา 7 แสนบาท เมื่อปี 2559 ส่วนอุรังอุตังอีกคู่หนึ่งเป็นของกลางที่ยึดได้ ณ ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ จ.สงขลา เมื่อปี 2560 สำหรับอุรังอุตังทั้ง 4 ตัวนี้ ทางอินโดนีเซียยินดีรับกลับเช่นกัน แต่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ของไทยยังต้องดูแลต่อไปจนกว่าจะครบ 5 ปี เพื่อให้สัตว์ป่าของกลางตกเป็นของรัฐ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง