ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

1 ธ.ค. วันเอดส์โลก "รวมพลังชุมชน ยุติเอดส์"

ภูมิภาค
30 พ.ย. 62
15:58
1,520
Logo Thai PBS
1 ธ.ค. วันเอดส์โลก "รวมพลังชุมชน ยุติเอดส์"
คลินิกทางเลือกกับบทบาทในการค้นหากลุ่มเสี่ยง และจ่ายยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ HIV หรือ เพร็พ หนึ่งในเครื่องมือยับยั้งการแพร่กระจายโรคเอดส์

วันนี้ (30 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ปัจจุบันภาครัฐให้สิทธิการตรวจหาเชื้อ HIV ได้ฟรีปีละ 2 ครั้ง ทุกสิทธิการรักษา แต่เพราะผู้ต้องการตรวจหาเชื้อ HIV อาจไม่สะดวกใจเดินเข้าโรงพยาบาลรัฐด้วยเหตุผลต่างๆ การพบแพทย์ใน คลินิก และศูนย์บริการภาคเอกชนจึงกลายเป็นทางเลือกของประชาชน

คลินิกเทคนิคการเอ็มพลัส ซอยชมจันทร์ ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ คือองค์กรด้านสุขภาพที่มีบทบาทให้คำปรึกษา และค้นหากลุ่มเสี่ยง กลุ่มชายรักชาย สาวประเภทสอง และผู้ทำงานบริการที่นี้ มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษา และห้องปฎิบัติการที่ได้มาตรฐาน สามารถแจ้งผลการตรวจเลือดได้ในเวลาไม่นาน ส่วนหนึ่งเพื่อความรวดเร็วในการจ่ายยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ HIV หรือ เพร็พ แก่กลุ่มเสี่ยง

นายพงศ์ภีระ พัฐภีระพงศ์ รอง ผอ.มูลนิธิเอ็มพลัส ระบุว่า ในอดีต ประชาชนมีความเข้าใจว่าโรคเอดส์เป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่ปัจจุบันเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น ผู้ติดเชื้อที่เข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทานยาต้านไวรัสจะสามารถใช้ชีวิตได้ปกติไม่ต่างจากคนทั่วไป การติดต่อของโรคก็ไม่ได้ติดต่อกันได้ง่าย สามารถกินข้าว ว่ายน้ำ ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันร่วมกันได้ หรือแม้แต่มีเพศสัมพันธ์ก็สามารถทำได้ หากรู้จักวิธีป้องกัน

แต่ปัญหาที่ยังพบ คือหลายคนยังไม่กล้าเข้ารับการตรวจ ทำให้ไม่รู้สถานะของตัวเอง หากรับเชื้อ HIV ไป แต่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรักษา ก็จะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกทำร้ายลง และมีโอกาสแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

ปัจจุบัน พบว่ากลุ่มเยาวชนมีการติดเชื้อ HIV เพิ่มขึ้น เพราะมีความอยากรู้ อยากลอง ทำให้มีเพศสัมพันธ์ในอายุที่น้อยลง แต่กลับไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน ถุงยางอนามัย สารหล่อลื่น หรือยาเพร็พ

นพ.สุเมธ องค์วรรณดี ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 ระบุว่า ในภาพรวมการแก้ปัญหาโรคเอดส์ในระดับประเทศ พบว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลง จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีชีวิตก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น เพราะการได้รับการรักษาด้วยการกินยาต้านไวรัสเร็วขึ้น และได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลงมาก

ส่วนพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อที่ยังชีวิต ตามฐานข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ อยู่ประมาณ 55,000 คน ผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลง เพราะได้รับยาต้านไวรัสเร็วขึ้น ช่วยลดการกระจายเชื้อได้ดี

โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดการติดเชื้อยังคงมาจากพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ทั้งนี้ ครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อ เป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย กลุ่มต่อมา คือกลุ่มพนักงานบริการหญิง และพนักงานบริการชายในสถานบันเทิงต่างๆ ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าประชากรทั่วไป ขณะที่กลุ่มเยาวชน ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่นิยมใช้ถุงยางอนามัย

สำหรับมาตรการป้องกัน สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 ได้สนับสนุนถุงยางอนามัยให้กับโรงพยาบาล และหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน นำไปกระจายต่อให้กลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการรณรงค์ไปยังสื่อต่างๆ

 

 

ส่วนมาตรการป้องกันรูปแบบใหม่ คือ การจ่ายยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ HIV หรือ เพร็บ ฟรี สำหรับประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งตรวจเลือดแล้วไม่พบเชื้อ HIV ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่นำร่องใน 21 จังหวัดทั่วประเทศ ในภาคเหนือตอนบน มี 6 หน่วยบริการอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ และ เชียงราย ( รพ.นครพิงค์ เชียงดาว ไชยปราการ ฝาง สันป่าตอง และ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์)

โดยกรณีที่ ภรรยา หรือ สามี ติดเชื้อ HIV แล้ว แต่คู่ชีวิตยังไม่ติดเชื้อ หากทานยาเพร็บอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้การควบคุมของแพทย์ จะช่วยป้องกันการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ได้เกือบ 100%

 

 

ประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีชีวิตอยู่ 460,000 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ ในปีนี้ 5,500 คน หรือ เฉลี่ยวันละ 15 คน

โดยแผนการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 มีเป้าหมาย ลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ เหลือปีละ ไม่เกิน 1,000 คน ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อ HIV เหลือปีละไม่เกิน 4 พันคน และ ลดการรังเกียจ และเลือกปฎิบัติ ลงจากเดิมร้อยละ 90

 

 

วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก (World Aids Day)เป็นวาระสำคัญที่ทุกประเทศในโลกร่วมกันรณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอดส์ จากรายงานของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ พบว่าใน ปี 2561
มีผู้ติดเชื้อ HIV ทั่วโลกสะสม 37.9 ล้านคน และ มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ 770,000 คน

สำหรับ คําขวัญวันเอดส์โลก 1 ธ.ค. 2562 คือ “รวมพลังชุมชน ยุติเอดส์”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง