จากกรณีคลิปที่นักท่องเที่ยวถ่ายภาพเหตุการณ์ขณะมีรถยนต์ 2 คัน ขับเข้าไปบริเวณจุดหวงห้ามบริเวณจุดสกัดเขาสูง-เขาแผงม้า ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา จนทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวางเรื่องความเหมาะสม ก่อนหน้านี้ ไทยพีบีเอสออนไลน์ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบพฤติกรรมไกด์ทัวร์นำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าพื้นที่เพื่อเฝ้าดูช้างป่าอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน
บริเวณเส้นทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ด่านเนินหอม เป็นพื้นที่ที่ช้างป่ามักออกมาเดินหากิน ทำให้ไกด์ทัวร์ในพื้นที่นำกลุ่มนักท่องเที่ยว 2-3 คน นั่งท้ายรถยนต์กระบะ ขับรถเลาะริมป่าเพื่อหาช้างป่าที่จะออกมาหากิน เมื่อพบช้างป่าแล้ว ไกด์ทัวร์จะจอดรถให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพช้างป่าอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันไกด์จะลงมาจากรถแล้วโบกรถให้รถคันอื่นเคลื่อนผ่านไป เพื่อไม่ให้ช้างตื่น
ทั้งนี้ สำหรับทัวร์ชมช้างป่าเขาใหญ่ ส่วนใหญ่บริษัททัวร์จะจัดให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อหัวประมาณ 1,000-1,500 บาทต่อทริป ซึ่งมักได้รับความนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ทัวร์ดูช้างป่าใกล้ชิด เสี่ยงอันตราย-กระทบพฤติกรรมช้าง
ขณะที่ ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ นักวิชาการด้านสัตว์ป่ากรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า สัตว์ทุกชนิดจะมีพื้นที่ปลอดภัยกรณีที่มีทัวร์ส่องสัตว์หรือดูสัตว์จะต้องมีการเว้นระยะเพื่อให้สัตว์ป่าได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติและทำให้ผู้ที่มาชมได้สัมผัสธรรมชาติเท่าที่ควร
ส่วนกรณีการท่องเที่ยวที่เข้าไปใกล้สัตว์มากเกินไปหรือคนเข้าไปมากเกินไป แน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าและระบบนิเวศ ดังนั้น ต้องมีความเข้มงวดเพื่อให้สัตว์ป่าได้ใช้ชีวิตตามปกติ และไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ
คนเข้าไปใกล้ช้างมากเกินไป อุบัติเหตุและความเสี่ยงที่จะเกิดกับทั้งคนและช้างก็จะมากขึ้น ซึ่งการเข้าไปในระยะที่ใกล้เกินไปไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ การเข้าใกล้ช้างป่ามากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของช้างได้ ทั้งความคุ้นเคยของช้างป่ากับคน การให้อาหาร การโยนสิ่งของ หากช้างป่าพบความไม่ปกติ ถ้าโชคดีช้างอาจจะหนีไป แต่หากโชคร้ายก็อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
10 ข้อปฏิบัติเมื่อพบช้าง
ขณะที่ก่อนหน้านี้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ออกมาเตือนประชาชนที่พบช้างป่า โดยควรปฏิบัติ ดังนี้
- หยุดรถให้ห่างจากช้าง 30 เมตร และถอยรถรักษาระยะเมื่อช้างเข้าใกล้
- ติดเครื่องยนต์ไว้เสมอ
- เมื่อพบช้างในเวลากลางคืนให้เปิดไฟไว้เสมอห้ามเปิดไฟกระพริบ
- ไม่จอดรถและเข้าใกล้ช้างเด็ดขาด
- ประสาทสัมผัสของช้างที่ดีที่สุด คือ หู จมูก และตา ถ้าดับเครื่องยนต์ ช้างจะเข้าใกล้เพื่อใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่น นั่นก็คือการดม ดู และการสัมผัส เมื่อรถคันหน้าถอยหลัง รถคันถัดไปควรเคลื่อนตามเพื่ออำนวยความสะดวกในสถานการณ์ฉุกเฉิน
- หากตกอยู่ในวงล้อมของช้างให้เคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย
- ไม่จอดรถดูช้าง
- อย่าใช้แตรรถหรือส่งเสียงดัง
- งดใช้แฟลชถ่ายรูป
- ข้อควรปฏิบัติสำคัญ คือ ห้ามจอดรถเพื่อถ่ายรูปเด็ดขาด เพราะจะเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยวเองและก่อเกิดความเสียหายกับรถยนต์ของนักท่องเที่ยว
วิธีสังเกตอารมณ์ของช้างอย่างง่าย ๆ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต เคยอธิบายวิธีการสังเกตอารมณ์ช้างป่าผ่านเฟซบุ๊ก Patarapol Lotter Maneeorn
- เมื่ออารมณ์ดี หูจะสะบัดไปมา หางจะแกว่งและใช้งวงสะบัดไปมา หรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจเรา
- เมื่ออารมณ์ไม่ดี หูจะตั้งกาง ไม่สะบัดหาง หางชี้ งวงจะนิ่งแข็ง แตะอยู่ที่พื้น หรือใช้งวงตีพื้น และอยู่นิ่งจ้องมองมา
ทางเรา
ปกติช้างจะวิ่งไล่ผู้รบกวนเป็นระยะทางสั้น ๆ เพียง 2 – 3 ครั้ง หากวิ่งตามผู้รบกวนไม่ทันก็จะเลิกวิ่งไล่ไปเอง ช้างเมื่ออารมณ์ดี สังเกตจากการแกว่งหู และสะบัดหางไปมา จะไม่ทำร้ายแม้รถจะวิ่งเข้ามาใกล้ก็ตาม แต่หากช้างโกรธ หรือไม่ไว้ใจสิ่งใด เช่น ช้างแม่ลูกอ่อน อาจตรงเข้าทำร้ายผู้รบกวนได้ในระยะไกล จึงพึงสังเกตอารมณ์ และอาการของช้างไว้ประกอบการตัดสินใจด้วย
ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุที่รถติดเป็นจำนวนมาก หรือช้างเกิดความเครียด จากการสังเกตุตามข้อแนะนำข้างต้น ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ จะมาทำการอารักขา ขอย้ำครับว่า”อารักขาช้างป่า” ไม่ใช่ไล่ช้าง