ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สุขใจ" ตลาดแบ่งปันความสุข จาก "คนทำ" สู่ "คนกิน"

สังคม
16 ธ.ค. 62
20:25
1,029
Logo Thai PBS
"สุขใจ" ตลาดแบ่งปันความสุข จาก "คนทำ" สู่ "คนกิน"
"สามพรานโมเดล" กับเส้นทางสู่ "ตลาดสุขใจ ครั้งที่ 6" รวมสินค้าอินทรีย์จากทั่วประเทศด้วยโมเดลธุรกิจยั่งยืน เตรียมพร้อมขยายเครือข่ายพันธมิตร รุกช่องทางการตลาดออนไลน์ สร้างทางรอดเกษตรกรอินทรีย์ไทย

ในสังคมและยุคสมัยที่อาหารการกินหาซื้อได้ง่าย เพียงแค่เดินไปมุมตึก หรือ แวะแยกไฟแดง แม้แต่การนั่งเฉย ๆ แล้วสไลด์มือถือ เลือกเมนูในแอปพลิเคชัน ที่รวบรวมข้าวและกับข้าว จากการปรุงรสของเชฟ ทว่า ยากนักหากจะหาอาหารที่เป็นมิตรมากกว่าเป็นพิษเป็นภัย

ในมุมของการผลิต เกษตรกรจำนวนไม่น้อย ต้องการทำเกษตรกรรมที่ปลอดภัย ต่อทั้งตัวเองและผู้บริโภค แต่ก็ยากเช่นกัน เพราะการเปลี่ยนวิธีการผลิตจากเคมีมาเป็นอินทรีย์ ต้องอาศัยองค์ความรู้ หากทำสำเร็จก็ยังต้องหาพื้นที่การค้าที่เป็นตลาดอินทรีย์ เพราะราคาต้นทุนที่สูงกว่า ทำให้ยากต่อการขายในตลาดทั่วไป และส่วนแบ่งทางการตลาดโดยรวมที่ยังมีไม่มาก จึงมีแค่เกษตรกรที่กล้าเสี่ยงเท่านั้นถึงจะทำได้


สองปัญหาข้างต้น คือสารตั้งต้นที่ทำให้เกิด “สามพรานโมเดล” ที่นิยามตัวตนว่าเป็น โมเดลธุรกิจยั่งยืนบนพื้นฐานความเป็นธรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนโดย “มูลนิธิสังคมสุขใจ” มีบทบาทในการส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรกรรมอินทรีย์ ด้วยการส่งต่อองค์ความรู้ ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ ทั้งยังเปิดพื้นที่ตลาดอินทรีย์รองรับการขาย เป็นสะพานจัดกระบวนการเชื่อมโยงผู้บริโภคและผู้ผลิตให้มาเจอกัน

 


สุดสัปดาห์ 13 - 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา จึงได้เห็นงาน “สังคมสุขใจ ครั้งที่ 6” ที่สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม มีเกษตรกรในเครือข่ายจากทั่วประเทศ มาแลกเปลี่ยนสินค้า และแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตร เส้นทางการบริโภคอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้ที่สนใจ

 

"ข้าว" กับเรื่องของชาวนา ที่ผ่านวิกฤตด้วยความร่วมมือ

กัญญา อ่อนศรี ผู้ใหญ่บ้านทัพไทย หัวหน้ากลุ่มสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ทัพไทย เดินทางมาจากจังหวัดสุรินทร์ พร้อมนำข้าวพันธุ์พื้นถิ่นอีสาน มาให้คนภาคกลางได้รู้จักและลองชิม อย่าง “ข้าวปะกาอำปึล” หรือ “ข้าวดอกมะขาม” ที่ขึ้นชื่อว่าน้ำตาลต่ำ แป้งน้อย อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามินบี ธาตุเหล็ก ช่วยบำรุงผิว ระบบประสาท และสร้างเม็ดเลือด หรือ “ข้าวหอมมะลิสุรินทร์” ที่แค่ชื่อ ก็บ่งบอกแล้วว่าเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น หากินได้ยากในพื้นที่อื่น


แต่กว่าจะมีข้าวพันธุ์พื้นถิ่นอินทรีย์มาวางขายแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ชาวนาสุรินทร์ ต้องลำบากยากเข็ญเป็นหนี้เป็นสินนับไม่ถ้วน ต้องปลูกข้าวสลับกับการทำงานเป็นกรรมกร ระหกระเหินรับจ้างต่างถิ่นฐาน ทั้งที่ในอุดมคติ พวกเขาเคยได้รับการยกย่องว่า “กระดูกสันหลังของชาติ”

ก่อนหน้านี้พวกเราก็เหมือนกับชาวนาทั่ว ๆ ไป ที่เป็นหนี้เพราะขายข้าวไม่ได้ราคา พอทำนาเสร็จต่างคนก็ต่างไปหางาน บ้างต้องเดินทางมารับจ้างก่อสร้างในกรุงเทพฯ เราก็คิดหนักเลยว่าจะทำยังไงดีนะ

 


เธอยังเล่าต่อว่า หลังจากได้พบกับ กลุ่มสามพรานโมเดล ในคราวแรกเธอยังไม่มั่นใจว่า ข้าวอินทรีย์จะปลูกได้หรือไม่ แล้วจะขายได้หรือเปล่า แต่ก็ทำให้มั่นใจว่าทำได้จริง ๆ จากนั้นก็ได้เรียนรู้เรื่องมาตรฐานสินค้าอินทรีย์ จากทั้งของไทยและต่างประเทศ ว่าทำอย่างไรจึงจะได้รับรอง

พอเราปลูกได้แล้ว เขายังมาช่วยจัดการตลาดให้ด้วย ไปชวนภาคธุรกิจ ร้านอาหารชื่อดัง ให้มาดูนา ว่าที่ทำกัน เป็นอินทรีย์จริง ๆ พวกเราถึงกับไปบนบานศาลกล่าวกันด้วยหัวหมู ว่าขอให้เขารับซื้อข้าวของเราด้วย เพราะชาวสุรินทร์จะมีความเชื่อว่า หากเราทำดี จะได้ผลที่ดี แล้วสุดท้าย ก็ได้คำตอบว่าเขารับซื้อเราจริง ๆ ดีใจมาก ๆ

วันนี้ สหกรณ์เกษตรอินทรีย์ทัพไทย จำกัด มีทุนสำรองหมุนเวียนเพิ่มขึ้น จาก 60,000 บาท เป็น 20 ล้านบาท จากการสั่งซื้อและประกันราคาข้าว ช่วยทำให้ชาวนาปลดหนี้ได้ ส่งผลให้หนี้ลดลงเหลือร้อยละ 20 นอกจากจะลืมตาอ้าปากได้กว่าที่เคย ยังไม่ต้องอพยพย้ายที่อยู่เหมือนที่ผ่านมา หลังจากปลูกข้าวก็หันไปปลูกพืชอินทรีย์ ทำปุ๋ย และออกแนวคิดผลิตสินค้าแปรรูปใหม่ ๆ อย่างเส้นพาสต้าจากข้าวหอมนิลและหอมมะลิแดง

พวกเขายังกลายเป็นเกษตรกรต้นแบบของจังหวัด ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ (Organic Thailand) จากกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งยังสร้างเครือข่ายชาวนาอินทรีย์จำนวนมาก จากเคยมีสมาชิกในกลุ่มเพียง 66 คน เพิ่มเป็น 300 กว่าคน และพื้นที่นาอินทรีย์กว่า 6,000 ไร่ ภายในเวลา 6 ปี

นำพา "เกษตรกร" ร่วมสร้างระบบผลิตที่สมดุล

เพื่อสร้างระบบอาหารที่สมดุล รักษาสุขภาพของผู้ผลิต ผู้บริโภค และรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว นอกจากข้าวแล้ว “สามพรานโมเดล” ยังจับมือกับเกษตรกรและผู้ผลิตสินค้าประเภทอื่น ๆ ทั้งผักสด ผลไม้ สินค้าแปรรูป ครอบคลุมทั้งของกินและของใช้ เข้าสู่กระบวนการสร้างระบบผลิตที่สมดุล รวมทั้งหมด 15 กลุ่ม นับเป็นเกษตรกรกว่า 170 คน ซึ่งแต่ละกลุ่มมีระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม Participatory Guarantee System (PGS) ของตัวเอง และได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไอโฟม (IFOAM-International Federation of Organic Agriculture Movements) จำนวน 17 ราย ซึ่งพวกเขาก็มาแสดงผลงานกันในตลาดแห่งนี้ด้วย

 

 

 


เกษตรกรสามพรานโมเดล ยังใช้โอกาสของการรวมตัวกันครั้งนี้ ประกาศปฏิญญาแห่งท้องทุ่งที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์สู่ชีวิตที่สมดุล ด้วย 3 หลักการสำคัญ คือ การทำเกษตรกรรมโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมตรวจสอบมาตรฐาน พร้อม ๆ กับ การรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน

 

 

 

"สามพรานโมเดล" ธุรกิจสร้างระบบอาหารที่สมดุล

อรุษ นวราช ผู้ก่อตั้ง “สามพรานโมเดล” เล่าว่า จุดเริ่มต้นของโมเดลธุรกิจนี้ เกิดขึ้นจากความต้องการให้ลูกค้าที่เข้าพักในโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ ได้รับประทานอาหารอินทรีย์ จึงเริ่มจากการสร้างเกษตรกรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดนครปฐมก่อน ทั้งที่จังหวัดนี้ เคยเป็นพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ เมื่อทำสำเร็จจึงขยายเครือข่ายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ด้วยเชื่อว่า “ถ้า 35% ของประชากรไทยคือเกษตรกร นี่ก็คือปัญหาใหญ่ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประเทศ”


โมเดลการสร้างระบบอาหารที่สมดุลจึงเกิดขึ้น ตั้งเป้าเปลี่ยนเกษตรกรที่ติดอยู่ในวงจรของปัญหาการใช้สารเคมี สุขภาพย่ำแย่ ภาระหนี้สิน และสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมมาเป็นเกษตรกรที่ผลิตด้วยกระบวนการอินทรีย์ ให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น สิ่งแวดล้อมอุดมสมบูรณ์และหนี้สินน้อยลง ด้วยกลไกสำคัญ คือ พื้นที่การค้าที่มีคนกลางที่เป็นธรรม สร้างช่องทางการตลาดใหม่ ๆ และผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

ประเทศเรามีผู้บริโภคที่เยอะมาก แต่เรามักซื้อสินค้ามาจากใคร มาจากไหนก็ไม่รู้ เกษตรกรผลิตแบบเคมี ก็นำสินค้าไปขายให้พ่อค้าคนกลาง ไปส่งให้ใครก็ไม่รู้ แต่หากเริ่มจากการหยุดใช้สารเคมี ขายของที่มีคุณภาพ และขายให้คนใกล้ตัว รู้ที่มาที่ไปของกัน ก็จะช่วยให้มีราคาที่ดีขึ้น


อรุษ 
ยังระบุถึงความสำเร็จของสามพรานโมเดล ว่ามี 3 ส่วนหลัก คือ 1) การกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมของเกษตรกร ผู้บริโภค ว่าจะสร้างระบบการค้ายั่งยืน ทำความเข้าใจร่วมกับผู้ผลิตผลิตสินค้าอินทรีย์ บางครั้งอาจไม่มีสินค้าที่ต้องการเพราะไม่ใช่ฤดูกาล ลูกค้าก็ต้องเข้าใจและปรับตัว 2) ร่วมมืออย่างต่อเนื่อง แม้จะมีปัญหาแต่ก็ต้องพยายามแก้ไขร่วมกัน ติดตามประเมินผลอยู่เสมอ และ 3) สร้างการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ ยกระดับการผลิตและการค้า


ส่วนในอนาคต สามพรานโมเดล จะขยายภาคีเครือข่ายพันธมิตร โรงแรม ร้านอาหาร และทำงานวิจัยร่วมกัน รวมถึงขยายพื้นที่การเข้าถึงสินค้าออร์แกนิกด้วยแพลทฟอร์มใหม่อย่าง “Thai Organic Platform” ที่เข้าถึงได้ทางออนไลน์ ให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้า และนัดหมายเข้าเยี่ยมชมแปลงของเกษตรกรเพื่อเรียนรู้วิถีการทำเกษตรยั่งยืนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

พิชญาพร โพธิ์สง่า ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งานวิจัยชี้ "ชาวนา" หนี้เพิ่ม หลังนโยบายจำนำข้าว

"เทศกาลข้าวใหม่" ชูความหลากหลายพันธุ์ข้าวไทย

ชูความหลากหลายพันธุ์ข้าว ช่วยกู้วิกฤตข้าว - ชาวนาไทย

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง